คอลัมน์ เพื่อนตัวเล็ก

ถือเป็นข่าวดีครั้งล่าสุดของวงการวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อ คุณยายมาริน สารพิน ขุดพบซากฟอสซิล “ช้างแมมมอธ” ระหว่างขุดดินปลูกกล้วยที่สวนในอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

ตอนแรกคุณยายนึกว่าเป็นกระดูกสัตว์ท้องถิ่น แต่เพราะมีขนาดใหญ่น่าสงสัย จึงรีบแจ้งนายอำเภอ ซึ่งติดต่อไปยังกรมศิลปากรที่ 6 จังหวัดสุโขทัย หลังตรวจ สอบพบว่าเป็นซากฟอสซิลส่วนหัว 2 ชิ้น เป็น กรามของช้างแมมมอธ อายุราวๆ 1,000 ปี และเตรียมส่งไปตรวจสอบอย่างละเอียด ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อให้รู้อายุที่แท้จริง รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่สำคัญต่อไป

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 ที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล มีการพบฟอสซิลส่วนกรามของ “ช้างสเตโกดอน” ช้างดึกดำบรรพ์ที่ เก่าแก่กว่าแมมมอธ

ทั้งนี้ ช้างแมมมอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้าง ในวงศ์ Elephantidae เช่นเดียวกับช้างเอเชียยุคปัจจุบัน แมมมอธถือกำเนิดราว 2.6 ล้านปีก่อนในยุคไพลโอซีน และสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิงเมื่อ 11,700 ปี แมมมอธมีกระจายอยู่ ทั่วโลก พบมากในยุโรปและเอเชียเหนือ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเคยอยู่ในภูมิภาคอเมริกาใต้ และออสเตรเลีย

ส่วนรูปร่างและขนาดนั้น ช้างแมมมอธโตเต็มวัยสูงราว 4 เมตร น้ำหนัก 8-12 ตัน ขณะที่ช้างแอฟริกันสูงประมาณ 3-4 เมตร หนัก 4-7 ตัน และช้างเอเชียสูงราว 2-3.5 เมตร น้ำหนัก 3-5 ตัน เปรียบเทียบกันจะเห็นว่าแมมมอธมีความสูงพอๆ กับช้างปัจจุบัน แต่ตัวหนากว่า ใหญ่กว่า และมีขนยาวปกคลุมร่างกาย








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน