ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

600 ปี วังหลวง‘ที่สุดในโลก’

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม – พระราชวังต้องห้ามของจีน มีอายุครบ 600 ปีในปีนี้ หลังผ่านช่วงเวลาที่เป็นวังหลวงตั้งแต่กลางราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง ความกว้างใหญ่ของพระราชวังแห่งนี้ หากเทียบกับสนามฟุตบอลจะได้ 114 สนามฟุตบอล สนามละ 400 เมตร พระราชวังต้องห้าม “เป็นที่สุดในโลก” 4 อย่าง ได้แก่

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

ประตูเฉียนชิง

1) งานก่อสร้างที่มีพิมพ์เขียวใหญ่ที่สุด

2) ฐานอักษรตัวถู่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

3) กลุ่มวังที่สร้างด้วยอาคารไม้ใหญ่ที่สุดในโลก

4) หน้าไท่เหอ เตียน (ศาลาว่าราชการ) มีจัตุรัสเทียนอันเหมินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” ผลงานเขียนของ จ้าวกว่างเชา แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ชาญ ธนประกอบ เป็นหนังสือภาพที่รวบรวมเรื่องราวของพระราชวังต้องห้ามแห่งกรุงปักกิ่ง ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ทั้งด้านเอกสารโบราณและศิลปกรรมประเภทต่างๆ อาทิ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และประณีตศิลป์ ที่ล้วนสะท้อนภาพความวิจิตรอลังการของวัฒนธรรมจีน

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

สำนักพิมพ์มติชนเคยวางขายและขายเกลี้ยงไปตั้งแต่ปี 2560 กระทั่งมาถึงโอกาสพิเศษครบรอบ 600 ปีของวังต้องห้าม จึงเปิดโอกาสอีกครั้งให้กับผู้ที่ต้องการมีหนังสือเล่มนี้ไว้ในครอบครอง

เปิดให้สั่งจองล่วงหน้า หรือ พรีออร์เดอร์ ทางเว็บไซต์ www.matichonbook.com ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ด้วยราคาพิเศษ 990 จากราคาเต็ม 1,200 บาท โดยเมื่อลงทะเบียนแล้ว ทางสำนักพิมพ์มติชนจะจัดส่งให้ฟรี

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

หากยังอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะซื้อสะสมไว้หรือไม่ สำนักพิมพ์มติชน ยกตัวอย่างเรื่องราวที่น่าสนใจส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับ 12 ภาพสอนสาวชาววัง คุณธรรมของนางใน

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

ภาพเขียนทั้งสิบสองที่อยู่ในหมู่ พระตำหนักตงลิ่วกง และ ซีลิ่วกง นั้น เป็นเรื่องราวของพระมเหสี พระสนม ที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ ผู้มีความโดดเด่นด้านคุณธรรมในข้อที่ต่างกันไป โดยจักรพรรดิเฉียนหลงและขุนนางผู้ใหญ่เขียนบทกวีสอนชาววังขึ้นมา 12 บทและแขวนไว้ที่ผนังทิศตะวันออกของอาคารประธานในพระตำหนักแต่ละหลัง

บทกวีสอนชาววังและภาพวาดเหล่านี้จึงเปรียบได้กับ “คำสอน” ที่มีหน้าที่ “แนะนำ” เหล่าบรรดานางใน และจักรพรรดิเฉียนหลงเองก็ทรงมีพระราชโองการว่า “เมื่อแขวนป้ายแล้ว ไม่ว่ากี่พันกี่หมื่นปีก็ห้ามเคลื่อนย้าย นางสนมองค์ใดย้ายไปตำหนักอื่น ห้ามนำป้ายดังกล่าวติดตัวไปด้วย”

“พวกเธอ” ในภาพจิตรกรรมเหล่านั้นคือใคร?

เริ่มจากภาพสอนชาววังในหมู่ พระตำหนักตงลิ่วกง ประกอบด้วย

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

– ภาพ “เยี่ยนจี๋ฝันถึงกล้วยไม้” ในจิ่งเหรินกง แสดงถึงคุณธรรมด้านความมีวิสัยทัศน์ ในยุคชุนชิว เยี่ยนจี๋ สนมของเจิ้งเฟวินกง ฝันเห็นดอกกล้วยไม้ ต่อมาให้กำเนิดมู่กงและตั้งชื่อว่า “หลาน” แปลว่า กล้วยไม้

– ภาพ “สีว์เฟยทูลแนะนำอย่างตรงไปตรงมา” ในเฉิงเฉียนกง แสดงถึงคุณธรรมด้านความภักดีจักรพรรดิถังไท่จงเสด็จ ประพาสอี้ว์ฮว๋ากงที่เพิ่งสร้างเสร็จ ขณะนั้นสนมสีว์เฟย หนึ่งในผู้ตามเสด็จด้วย ได้ถวายฎีกาด้วยท่าทีจริงจัง เนื้อความระบุว่า “ขอให้พระองค์อย่าใช้แรงงานทหารและกองทัพมากไป โปรดหยุดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วยเถิด” เมื่อจักรพรรดิถังไถ่จงได้อ่านฎีกานั้นก็ชื่นชมเป็นอย่างมาก

– ภาพ “สี่ว์โฮ่วยกถาด” ในจงชุ่ยกง แสดงถึงคุณธรรมด้านการเคารพผู้อาวุโส สี่ว์โฮ่ว หรือ สี่ว์ผิงจวิน ทรงเป็นพระมเหสีในจักรพรรดิฮั่นเซวียนตี้ พระนางทรงได้รับพระเมตตาและความรักขององค์ไท่โฮ่วเป็นอันมาก นอกจากนี้พระนางสี่ว์ได้ปรนนิบัติรับใช้ไท่โฮ่วเป็นอย่างดีเสมอมา และทรงใช้ชีวิตอย่างสมถะ

– ภาพ “เฉาโฮ่วยกย่องการเกษตร” ในเหยียนสี่กง แสดงคุณธรรมด้านความขยันขันแข็ง สมัยซ่งเหนือ พระมเหสีในจักรพรรดิเหรินจง พระนามว่าเฉาโฮ่ว ทรงมีความขยันขันแข็งเป็นอย่างมากจนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นฝ่ายในผู้ทรงปัญญาในหน้าประวัติศาสตร์จีน เนื่องจากตลอดเวลาที่ประทับในวัง พระมเหสีเฉาทรงปลูกธัญพืชทั้งห้า ทำไร่ไถนา และเลี้ยงไม้ทอผ้าด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ

– ภาพ “ฝานจีทูลเตือนเรื่องล่าสัตว์” ในหย่งเหอกง แสดงถึงคุณธรรมด้านการให้คำแนะนำ ในยุคชุนชิว ฝานจี พระชายาในกษัตริย์จ้วงแห่งรัฐฉู่ ต้องการที่จะโน้มน้าวใจพระสวามีไม่ให้ล่าสัตว์ พระนางจึงทรงเลือกที่จะไม่เสวยเนื้อสัตว์เลย ท้ายที่สุดกษัตริย์จ้วงจึงคล้อยตามและทรงหันกลับมาทุ่มเทใจบริหารบ้านเมือง ทำให้ 3 ปีต่อมา รัฐฉู่นั้นเจริญรุ่งเรืองและเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

– ภาพ “หม่าโฮ่วซักผ้า” ในจิ่งหยางกง แสดงถึงคุณธรรมด้านความสมถะ

พระมเหสีหม่าในจักรพรรดิกวงอู่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ทรงเป็นผู้ที่ทำงานรอบคอบมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อได้เป็น พระมเหสีก็ยังทรงใช้ชีวิตเรียบง่าย ซักฉลองพระองค์เองหลายครั้ง และยังเป็นที่เคารพของทุกคนด้วย

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

ภาพหม่าโฮ่วซักผ้า ในจิ่งหยางกง แสดงคุณธรรมด้านสมถะ

ส่วนภาพสอนชาววังใน ซีลิ่วกง ได้แก่

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

– ภาพ “เจียงโฮ่วปลดปิ่น” ในฉี่เสียงกง แสดงถึงคุณธรรมด้านการช่วยสามี พระมเหสีเจียงในจักรพรรดิโจวเซวียนหวัง ทรงเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและสำรวม ครั้งหนึ่งเมื่อสายมากแล้วแต่พระสวามียังไม่ตื่นบรรทม พระนางเจียงรู้สึกว่าจักรพรรดิโจวเซวียนหวังทรงลุ่มหลงความสุขมากเกินไป ถือเป็นความบกพร่องทางคุณธรรมของพระนางเอง พระนางเจียงจึงปลดปิ่นปักผม ถอดยศเป็นสามัญชน และไปยืนริมถนนเพื่อรับโทษ จักรพรรดิโจวเซวียนจึงทรงละอายแก่ใจมาก ดังนั้นพระองค์จึงหันกลับมามุ่งมั่นปฏิบัติงานราชกิจ และกลายเป็นกษัตริย์ผู้เก่งกาจแห่งราชวงศ์โจว

– ภาพ “ไท่ซื่อสอนบุตร” ในฉานชุนกง แสดงถึงคุณธรรมด้านการสอนบุตร

ไท่ซื่อเป็นสนมเจิ้งเฟยในจักรพรรดิโจวเหวินหวัง และยังเป็นพระมารดาของจักรพรรดิโจวอู่หวัง ไท่ซื่อนั้นมีรูปโฉมที่งดงามและยังเป็นคนที่ฉลาด เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม เคารพผู้สูงกว่าและเสียสละให้ผู้ที่ต่ำกว่า ทำให้ไท่ซื่อเป็นที่รักของจักรพรรดิ โจวเหวินหวังและเป็นที่เคารพของเหล่าขุนนาง คนทั่วไปเรียกพระนางว่า “แม่เหวิน”

– ภาพ “เจี๋ยอี๋ว์ป้องกันหมี” ในเสียนฝูกง แสดงถึงคุณธรรมด้านความกล้าหาญ

ครั้งหนึ่ง จักรพรรดิหยวนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตกทรงกำลังรับชมละครสัตว์ จู่ๆ หมีตัวหนึ่งหลุดจากการควบคุมและกระโจนออกมา ทุกคนต่างหนีเอาชีวิตรอด มีเพียงสนมเฝิงเจ๋ยอี๋ว์ผู้เดียวเท่านั้นที่เข้ามาขวางหน้าพระที่นั่ง ทำให้จักรพรรดิหยวนตี้ทรงซาบซึ้งพระทัยเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญกับสนมเฝิงเจ๋ยอี๋ว์มากขึ้น

– ภาพ “ปานจีปฏิเสธขึ้นเกี้ยว” ในหย่งโซ่วกง แสดงถึงคุณธรรมด้านการรู้กาลเทศะ ปานจีเป็นสนมที่โปรดปรานเป็นอย่างมากของจักรพรรดิเฉิงตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น ถึงขนาดมีรับสั่งให้สร้างเกี้ยวที่สามารถนั่งได้ 2 ที่นั่งเพื่อออกเสด็จร่วมกัน แต่ปานจีกลับปฏิเสธที่จะขึ้นเกี้ยวและทูลว่า “ข้างกายจักรพรรดิผู้ทรงธรรมควรเป็นขุนนางมีชื่อ หากลุ่มหลงอยู่กับพระสนมทั้งวันมีแต่จะเป็นจักรพรรดิที่ทำให้อาณาจักรล่มจม”

– ภาพ “เจาหรงวิจารณ์บทกวี” แสดงถึงคุณธรรมด้านการมีความรู้ ซ่างกวนเจาหรง เป็นทั้งขุนนางสตรี กวี และพระสนมระดับ หวงเฟยในสมัยราชวงศ์ถัง ทรงชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเยาว์ สมัยพระนางอู่เจ๋อเทียน ทรงมอบหมายให้เจาหรงทำหน้าที่สำคัญ จนได้ฉายาว่า “อัครมหาเสนาบดีหญิง” ต่อมาในสมัยจักรพรรดิจงจง เจาหรงวิจารณ์บทกวีที่ทะเลสาบคุนหมิงได้กระชับและตรงประเด็น จนเป็นที่เล่าขานสืบมา

– ภาพ “ซีหลิงสอนเลี้ยงหนอนไหม” แสดงคุณธรรมด้านการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่

เล่ากันว่า เหลยจู่ เป็นสตรี ผู้มาจากตระกูลซีหลิง และยังได้เป็นสนมหยวนเฟยของกษัตริย์เหลือง หรือเซวียนหยวน คือผู้คิดค้นการเลี้ยงหนอนสาวไหมของจีน และได้รับการยกย่องเป็น “เหลยจู่ผู้ริเริ่มการเลี้ยงหนอนไหม”

ปิดท้ายด้วยเรื่องราว “จิ่งหยางกง” พระตำหนักที่แสนโดดเดี่ยวที่สุดในพระราชวังต้องห้าม

นอกจากการมีวาสนาได้เป็นหวงโฮ่วแล้ว อีกความใฝ่ฝันหนึ่งของเหล่าพระสนมฝ่ายในนั้นย่อมหนีไม่พ้นการได้เป็นคนโปรดของฮ่องเต้ ได้เป็นเจ้านายของพระตำหนักต่างๆ มีชีวิตที่สุขสบาย มีข้ารับใช้ แต่มีอยู่พระตำหนักหนึ่งที่ใครๆ ต่างไม่ปรารถนาจะไปอยู่ นั่นคือ “จิ่งหยางกง” หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักกันในชื่อว่า “พระ ตำหนักเย็น”

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม

จิ่งหยางกงตั้งอยู่สุดทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่พระตำหนักตงลิ่วกง เดิมชื่อ ฉางหยางกง และเปลี่ยนชื่อเป็น จิ่งหยางกง ในรัชศกเจียจิ้ง สมัยราชวงศ์หมิง

ผู้ที่เคยอยู่ที่จิ่งหยางกง ได้แก่ หวังกงเฟยแห่งราชวงศ์หมิง ผู้ถูกทอดทิ้งให้ประทับเพียงลำพัง

สตรีตระกูลหวังผู้นี้เคยเป็นเจ้านายแห่งจิ่งหยางกงนี้ นางเป็นพระสนมคนโปรดของจักรพรรดิว่านลี่ ขณะนั้นยังเป็นเพียงเจิ้งกุ้ยเฟย และยังเป็นพระราชมารดาขององค์ชายจูฉางลั่ว ซึ่งต่อมาทรงเป็นจักรพรรดิกวงจง อีกด้วย

ย้อนกลับไปในรัชศกว่านลี่ปีที่ 10 ตรงกับ ค.ศ. 1582 ไท่โฮ่วมีพระราชเสาวนีย์แต่งตั้ง เจิ้งกุ้ยเฟยเป็นหวังกงเฟย และให้ย้ายที่ประทับไปอยู่ที่จิ่งหยางกงพร้อมกับ องค์ชายจูฉางลั่ว เพียง 2 พระองค์เท่านั้น

เมื่อองค์ชายจูฉางลั่วได้เป็นรัชทายาท จึงต้องย้ายออกจากจิ่งหยางกง ทำให้หวังกงเฟยต้องพลัดพรากจากลูกชาย ความโศกเศร้านี้กัดกร่อนหวังกงเฟย กระทั่งในเดือน 9 รัชศกว่านลี่ปีที่ 39 หรือ ค.ศ. 1611 หวังกงเฟยประชวรอย่างหนัก นางขอร้องให้ได้พบกับลูกชายอีกครั้งก่อนตาย แม้ดวงตาจะมองไม่เห็น หวังกงเฟยได้แต่ลูบ พระพักตร์ เครื่องทรง และเครื่องประดับของรัชทายาท ก่อนจะสั่งเสียจะสิ้นใจว่า “ลูกเติบโตมาได้เช่นนี้ แม่ตายก็ไม่เสียใจแล้ว”

ส่วนสมัยราชวงศ์ชิง ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกชัดเจนเกี่ยวกับเจ้านายที่ประทับที่จิ่งหยางกง แต่ในรัชศกคังซีปีที่ 25 หรือ ค.ศ. 1686 ทรงเปลี่ยนจิ่งหยางกงให้เป็นที่เก็บหนังสือ และต่อมาในรัชศกคังซีปีที่ 46 หรือ ค.ศ. 1707 จิ่งหยางกงกลายเป็นที่ประทับของเหล่าพระสนมผู้ต่ำศักดิ์ อาศัยอยู่กันอย่างเบียดเสียดและแออัดตามสถานภาพของผู้อาศัย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนังสือ ย้ำอีกครั้งว่า สำนักพิมพ์มติชนเปิดให้สั่งจอง ล่วงหน้าถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้เท่านั้น อย่าได้พลาด !!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน