ฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5มีผลกระทบต่อผิวหนัง

ฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5มีผลกระทบต่อผิวหนัง – จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากบ้าน ซึ่งถือว่าเกิดผลพลอยได้อีกประการ คือการป้องกันฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นภัยเงียบทำร้ายสุขภาพในระยะยาวได้

รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พีเอ็ม ย่อมาจาก Particulate Matter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ (airborne particulate matter pollution) โดยปกติมลพิษประกอบไปด้วยสารหลายชนิด ทั้งฝุ่นมลพิษพีเอ็ม 2.5, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วน 2.5 มาจากขนาดของฝุ่นมลพิษพีเอ็ม ที่เล็กเท่ากับขนาด 2.5 ไมครอนโดยรวมจึงเรียกว่า พีเอ็ม 2.5

ฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5มีผลกระทบต่อผิวหนัง

รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา

 

รศ.พญ.รังสิมากล่าวต่อว่า ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากนี้ นอกจากทำให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น หืดหอบ มีอาการกำเริบ และในระยะยาวจะส่งผลให้ปอดทำงานถดถอย จนอาจก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอด ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้วนั้น งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าฝุ่นละอองยังสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนัง และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้อีกด้วย

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายของเรา ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันอันตรายจากพวกแบคทีเรีย, ไวรัส อีกทั้งยังมีหน้าที่ช่วยควบคุมการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ และรับความรู้สึก ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ ตลอดเวลา

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนังด้วย โดยผลกระทบที่เกิดกับผิวหนังนี้มี 2 ระยะ โดยการส่งผลกระทบต่อผิวหนังในทั้งสองระยะ จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่นมลพิษพีเอ็ม 2.5

1.ผลกระทบแบบเฉียบพลัน ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าพีเอ็ม 2.5 สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่มากขึ้นได้ โดยทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติไป ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และการซ่อมแซมผิวหนัง นอกจากนั้นยังทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อ Filaggrin ซึ่งมีหน้าที่เป็นโปรตีนที่ช่วยป้องกันผิวหนัง และเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ดังนั้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับพีเอ็ม 2.5 ก็จะเกิดการอักเสบ ระคายเคืองที่ผิวหนังได้

พีเอ็ม 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนัง และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคายเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบขึ้นได้

2.ผลกระทบแบบเรื้อรัง การสัมผัสกับ พีเอ็ม 2.5 ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วยิ่งขึ้น งานวิจัยพบว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง รวมถึงจุดด่างดำบนชั้นผิวหนังด้วย โดยพบว่ามีการเกิดจุดด่างดำบริเวณใบหน้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังพบการลดลงของการทำงานในระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังด้วยเช่นกัน

สำหรับการดูแลรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากพีเอ็ม 2.5 นั้น ควรทราบว่าตัวท่านเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ต่อการสัมผัสพีเอ็ม 2.5 ได้แก่ กลุ่มที่ความต้านทานของผิวหนังน้อยเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ สะเก็ดเงิน ฯลฯ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสพีเอ็ม 2.5 ควรงดเว้นการออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษปริมาณมาก หรือสัมผัสให้สั้นที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน