‘นอนกรน’เสี่ยงวูบ-โรคร้าย

ชวนเช็กโรคหยุดหายใจขณะหลับ

‘นอนกรน’เสี่ยงวูบ-โรคร้าย – การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพที่ง่ายๆ และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แค่เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังจำเป็นต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วย

สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศ ไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เมดิคอลอินเทนซีฟแคร์ จำกัด เปิดตัวโครงการ ‘นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ’ เนื่องใน ‘วันนอนหลับโลก 2020’ (World Sleep Day 2020) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและสัญญาณอันตรายจากการกรน รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสม

การใช้เครื่อง CPAP DreamStation

 

ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า วันนอนหลับโลกในปีนี้ ทางสมาคมมีความประสงค์ที่จะให้ความรู้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ อันตรายจากการนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม โดยเราเล็งเห็นว่าทางฟิลิปส์และเมดิคอลอินเทนซีฟแคร์เองก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ ริเริ่มโครงการ ‘นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ’ ขึ้น โดยการสนับสนุนจาก 5 โรงพยาบาล ได้แก่ 1.ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2.ศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี 3.ศูนย์นิทรรักษ์ ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช 4.ศูนย์โรคการนอนหลับ สถาบันโรคทรวงอก และ 5.ศูนย์สหเวชศาสตร์การนอนหลับ สุรศักดิ์มนตรี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภายใต้แนวคิด ‘นอนหลับสนิท ชีวิตสุขสันต์ โลกพลันสดใส’ ซึ่งเป็นคำขวัญของวันนอนหลับโลกประเทศไทย เพราะการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในหลายด้านทั้งความจำ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการความเครียด ภูมิต้านทาน และการทำงานของระบบอวัยะต่างๆ ภายในร่างกาย

เครื่อง CPAP DreamStation

 

พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับอาการนอนกรนจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาด้วยความคิดว่าเป็นสิ่งที่รบกวนคนที่นอนด้วย มากกว่าคิดว่าเป็นโรค แต่ในความเป็นจริงอาการกรนนั้นเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยสาเหตุของการกรนเกิดได้จากระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน ต่อมทอนซิลโต โคนลิ้นใหญ่ เยื่อหูและจมูกบวมลิ้นไก่ยาว ช่องคอหย่อน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและอายุที่เพิ่มขึ้น

หากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาก็จะทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ และส่งผลให้ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง เกิดเป็นผลเสียต่อร่างกายเพิ่มขึ้นระยะยาว ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมาธิสั้น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากหลับใน โดยเฉลี่ยแล้วอาการกรนจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการหายใจมากกว่าผู้ชาย

พญ.นวรัตน์-นพ.สมประสงค์-ศจ.พญ.อรุณวรรณ

 

นพ.สมประสงค์ เหลี่ยมสมบัติ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในแง่ของการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น นอกจากการลดพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว แพทย์อาจจะให้การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง, การใส่ทันตอุปกรณ์ หรือการผ่าตัด ในการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

การเช็กอาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการ อุดกั้น ให้สังเกตว่าตนเองมีการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมกับอาการหายใจเฮือกหรือไม่ หรือยังมีอาการง่วงอยู่ในช่วงกลางวันแม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ที่ https://www. cpapmic.com/sleeptest/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน