กักตัว-quarantine

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

น้าชาติ การกักตัว เคยมีมาก่อนไหม เริ่มจากโรคระบาดอะไร

พู่มณี

ตอบ พู่มณี

พบคำตอบจากเว็บไซต์ adaymaga zine.com ในบทความเรื่อง ทางออกอยู่ตรงไหนและโรคระบาดสิ้นสุดอย่างไรในอดีต : ว่าด้วยโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก โดย มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ ตอนหนึ่งว่า

กาฬมรณะ (Black Death) และการกักตัวครั้งแรกของโลก ในช่วงศตวรรษที่ 14 กาฬโรค หรือ Black Death แพร่จากเอเชียมายังยุโรป เชื่อกันว่าโรคนี้มาพร้อมการรุกรานของกองทัพมองโกล มีหนูและเห็บหมัดเป็นพาหะสำคัญ โดยสมัยนั้นทหารมองโกลใช้ศพของทหารที่ป่วยเป็นโรคโยนเข้าไปในเมืองเพื่อให้ประชาชนป่วยตายโดยไม่มียารักษา หลายคนมองว่ากาฬโรคเป็นอาวุธชีวภาพของโลกยุคโบราณ ส่วนที่เรียกกันว่า Black Death เพราะผู้ป่วยมักมีตุ่มหนองสีดำและอาเจียนเป็นเลือดสีดำในระยะสุดท้าย

ชาวยุโรปที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้องเจอกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตประชากรไปถึง 30-60 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียง 6 ปี โรคนี้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของภูมิภาค แม้การระบาดหนักจะกินเวลาช่วง ค.ศ.1347-1351 แต่ทำให้ประชากรเสียชีวิตมากถึง 200 ล้านคน และต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึงกว่า 200 ปี

ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างลอนดอนและปารีส ประชากรกว่าครึ่งติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาด ทำให้เกิดการปิดเมืองและท่าเรือเพื่อกักตัวประชาชนไม่ให้สัมผัสกับโรคร้าย เมืองท่าสำคัญอย่างเวนิซมีมาตรการให้เรือทุกลำกักตัวเป็นเวลา 30 วัน ก่อนจะแล่นเข้าเทียบท่า ช่วงเวลานี้ถูกระบุในกฎหมายว่า trentino และเมื่อจำนวนวันกักตัวเพิ่มเป็น 40 วัน ก็มีการ ระบุช่วงเวลากักตัวใหม่ว่า quarantino ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า quarantine (การกักตัว)

โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน (Great Plague of London) นโยบายปิดพื้นที่สาธารณะเอาชนะโรคร้ายได้ในที่สุด กาฬโรคไม่เคยหมดไปจากลอนดอน ในช่วง ค.ศ.1348-1665 มีการระบาดของกาฬโรคในลอนดอนอย่างน้อย 40 ครั้ง แต่ละครั้งส่งผลให้ประชากรในเมืองหลวงของอังกฤษเสียชีวิตราว 20 เปอร์เซ็นต์

ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1500 อังกฤษผ่านกฎหมายสำคัญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ให้มีการกักแยกผู้ป่วยออกจากสังคม บ้านไหนที่มีผู้ติดเชื้อต้องทำสัญลักษณ์หน้าบ้านโดยนำกองฟางมาติดไว้บนเสา ถ้ามีผู้ป่วยอยู่ในบ้านแต่จำเป็นต้องออกมาทำงานหรือซื้อหาสินค้าต้องถือเสาสีขาว (white pole) เพื่อแสดงตัว

กาฬโรคครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายระบาดในลอนดอนเมื่อ ค.ศ.1665 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากร 1 แสนคนในเวลา เพียง 7 เดือน รัฐบาลตัดสินใจปิดพื้นที่สาธารณะทั้งหมด รวมถึงโรงละคร ผับ บาร์ ร้านอาหาร ผู้ติดเชื้อถูกสั่งให้อยู่ในบ้าน ห้ามออกมาโดยเด็ดขาด บ้านที่มีผู้ป่วยให้ทำสัญลักษณ์เป็นรูปกางเขนสีแดงพร้อมเขียนข้อความ “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา” เพื่อเป็นการขอขมาต่อพระเจ้า โรงเรียนและสถานศึกษาจำนวนมากตัดสินใจปิดทำการและส่งนักศึกษากลับบ้านที่ต่างจังหวัด ผู้คนจำนวนมากย้ายออกจากเมืองใหญ่ กักตัวและทำงานจากบ้าน เพื่อป้องกันโรคระบาดไม่ให้มาถึงตัว โชคดีว่านโยบายกักผู้ป่วยและปิดพื้นที่สาธารณะช่วยให้ลอนดอนรอดจากการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายมาได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน