ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์ – ช่วงไม่กี่ปีมานี้เกษตรกรในบ้านเราหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะมีตลาดรองรับแน่นอน ที่สำคัญปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

วัฒนา ทรงพรไพศาล

 

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยขมิ้น ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นกลุ่มเกษตรกรอีกกลุ่มที่ปลูกพืชในแนวทางนี้ โดยมี นายวัฒนา ทรงพรไพศาล อายุ 32 ปี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาการเกษตร เป็นประธานกลุ่ม และยังเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ห้วยขมิ้นด้วย ซึ่งที่นี่เป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงนั่นเอง

สำหรับพื้นที่ทำเกษตรของเขาเองมีเกือบ 10 ไร่ ทำการเกษตรและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เน้นปลูกพืชหลากหลายชนิด โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ที่ชอบกินและใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไม้จันทน์เทศ ไผ่ และการบูร ส่วนไม้ผล ก็มีอโวคาโด พลับ กาแฟ มะม่วง ชมพู่ มะแขว่น ต๋าว มัลเบอร์รี่ (หม่อน) ท้อ เสาวรส กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมพันธุ์พื้นบ้าน และสตรอว์เบอร์รี่ รวมทั้งผักสลัดต่างๆ และพืชผักสวนครัว

นายวัฒนาเล่าว่า สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่กลับมาอยู่บนดอย และเห็นปัญหาคนในชุมชนหลายคนเสียชีวิตตอนอายุ 60 ปีเศษ ทุกคนล้วนเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งก็มาจากอาหารการกินในชีวิตประจำวันและมาจากการใช้สารเคมีในชุมชน เลยตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อปลายปี 2558 ช่วงแรกมีสมาชิก 10 กว่าคน ปัจจุบันมี 50 คน

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

นำผลไม้มาแปรรูป

 

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

ผลผลิตของกลุ่ม

 

ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.แม่นาจร ระบุว่าผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นพืชผักเมืองหนาวที่เน้นการปลูกตามฤดูกาล และปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด

สำหรับสตรอว์เบอร์รี่ที่เกษตรกรมักคิดว่าปลูกแบบอินทรีย์ไม่ได้นั้น นายวัฒนายืนยันว่า ทำได้ เพียงแต่ไม่สามารถปลูกได้ในจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการจัดการดูแลค่อนข้างลำบาก โดยกำหนดให้ปลูกรายละไม่เกินคนละ 5 พันต้น

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.แม่นาจร บ้านห้วยขมิ้น แจงรายละเอียดว่า ปลูกสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ในเนื้อที่ 3 งานเศษๆ โดยไม่ใช้สารเคมีอะไรเลย ทั้งนี้สมาชิกในกลุ่มที่จะปลูกต้องเข้ารับการอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก่อน เริ่มตั้งแต่ก่อนจะปลูกต้องปรับปรุงดิน ต้องผสมปุ๋ยหมัก ทำดินให้มีชีวิต ในส่วนการเพาะกล้าเลย ต้องพ่นสารชีวภาพ 2 วันหรือ 3 วัน/ครั้ง ปุ๋ยหมักต้องหมักเอง และต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อม เข้าใจการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รี่

ทั้งนี้ช่วงออกดอกต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าออกดอกไม่เต็มที่ สตรอว์เบอร์รี่จะลูกเล็ก ช่วงนั้นต้องดูแลดีหน่อย คือต้องใช้ปุ๋ยชีวพันธุ์ที่หมักเอง หรือจุลินทรีย์ฉีดบ่อยๆ และให้ปุ๋ยหมักที่หมักด้วยความหวาน ซึ่งถ้าเทียบผลผลิตกับสตรอว์เบอร์รี่ที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะน้อยกว่าเยอะ

อโวคาโดเป็นผลไม้อีกอย่างที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยขมิ้นปลูกกัน ซึ่งแม้ใช้เคมีแต่การปลูกให้ได้ผลผลิตจำนวนมากก็ยังเป็นเรื่องยาก แต่กลุ่มนี้สามารถทำได้ อย่างที่นายวัฒนาบอกว่า ต้องเน้นการดูแลในเรื่องความสะอาดของแปลงเป็นหลัก ต้องตัดหญ้า ที่สำคัญที่สุดปุ๋ยหมักต้องหมักเอง และปุ๋ยหมักที่ดีต้องมีมูลสัตว์ 2 ชนิดขึ้นไป

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

สำหรับสูตรที่ใช้อยู่เป็นปุ๋ยหมัก 3 ชนิดขึ้นไป อย่างแรกขี้วัว 2.ขี้ไก่ และ 3.ขี้ค้างคาว สิ่งเหล่านี้ได้จากชุมชนทั้งหมดเลย วิธีการคือ หมักใส่ในกระสอบ ผสมกับจุลินทรีย์ และขี้เถ้าแกลบ แล้วพลิกทุกวัน

ส่วนการปลูกอโวคาโดใช้วิธีเสียบยอด โดยใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด อโวคาโดพันธุ์พื้นบ้าน และในการปลูกระยะแรกระบบน้ำต้องดี ประมาณ 3 ปีจะออกดอก แต่จะให้ผลผลิตดีช่วงปีที่ 5-6 ปี โดยปลูก 40 ต้น ต้นหนึ่งๆ ให้ผลผลิต 30-50 ก.ก. ขาย ก.ก.ละ 140 บาท รสชาติดี แต่ขนาดเล็กกว่าในท้องตลาด อีกทั้งการปลูกแบบอินทรีย์จะให้ผลผลิตน้อย แต่ความหนาของเนื้อจะเยอะกว่าที่ใช้ปุ๋ยเคมี

พืชที่กลุ่มนี้ปลูกอีกอย่างคือกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งผู้ใหญ่บ้านห้วยขมิ้นหมู่ที่ 17 อธิบายว่า เกิดจากในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เนื่องจากบ้านห้วยขมิ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะล 1,200 ม. ขึ้นไป ต่อมากาแฟราคาไม่ดีชาวบ้านจึงโค่นต้นทิ้ง พอตั้งกลุ่มขึ้นมาก็นำกาแฟที่มีปลูกในชุมชนมารวมกันขาย โดยทางกลุ่มเป็นผู้รับซื้อ

ตามไปดู..พ่อหลวงหนุ่ม‘ปกาเกอะญอ’ รวมพลังชุมชนปลูกผักผลไม้อินทรีย์

จุดเด่นของกาแฟห้วยขมิ้นอยู่ที่การปลูกแบบอินทรีย์ ปลูกอยู่ในป่าภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ จะรอให้สุกตามธรรมชาติแล้วถึงค่อยเก็บ ทำให้ได้เนื้อกาแฟค่อนข้างดี

กาแฟที่นี่ใช้ชื่อแบรนด์ “ห้วยขมิ้น” ตอนนี้มีขายเฉพาะในชุมชน เพราะต้องการให้คนในชุมชนได้กินกาแฟในพื้นที่ของตัวเอง จะได้เห็นความสำคัญของการดูแลป่าชุมชนด้วย เนื่องจากที่นี่เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต้นน้ำที่ชุมชนจัดการร่วมกัน โดยน้ำในขุนห้วยขมิ้นไหลลงสู่ลำน้ำแม่แฮ สู่ลำน้ำแม่แจ่ม แม่น้ำปิง และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ในการปลูกแบบอินทรีย์นี้ เขาระบุว่า แทบจะไม่ได้ดูแลอะไร นอกจากตัดหญ้าปีละ 2 ครั้ง และเพิ่มปุ๋ยหมักให้ในช่วงต้นฝน โดยใช้ปุ๋ยหมักที่หมักเองเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นกาแฟ และถ้าต้นกาแฟเก่าๆ มีอายุเกิน 40-50 ปี ควรตัดแต่งกิ่งให้ต้นสั้นลง จะได้แตกยอดออกมาสวยกว่าเดิม

สนใจศึกษาวิถีปลูกอินทรีย์และผลผลิตหลากหลายของกลุ่มติดต่อผู้ใหญ่บ้านหนุ่มรายนี้ได้ที่เบอร์ 08-2896-6752

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน