ข้าวกล่องเชฟฮัก ปันชุมชนสู้ภัยโควิด

ข้าวกล่องเชฟฮักปันชุมชนสู้ภัยโควิด – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มใหญ่ขาดรายได้ ตกงาน ความเป็นอยู่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยตามชุมชนต่างๆ สมาคมเชฟประเทศไทย และไทยแลนด์ คัลลินารี อคาเดมี ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมเชฟโลก จึงจัดทำโครงการ “ข้าวกล่อง CHEFHUG แบ่งปันชุมชนสู้ภัย โควิด” เพื่อร่วมแบ่งปันและบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มเป้าหมายตามชุมชนต่างๆ ในกทม.

เชฟสมศักดิ์ – เชฟวิลเมน (กลาง) พร้อมด้วยเหล่าเชฟและผู้สนับสนุน

 

เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟประเทศไทย พร้อมด้วย เชฟวิลเมน ลีออง ประธานไทยแลนด์ คัลลินารี อคาเดมี และประธานสมาคมเชฟโลก World Chefs Without Borders และ นายอาณัติ ลิ้มจิระวัฒนา ประชาสัมพันธ์โครงการ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดโครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด” ที่มติชน อคาเดมี เมื่อวันที่ 7 พ.ค.

เชฟสมศักดิ์กล่าวว่า เคยแจกข้าวกล่องมาตลอด แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป เราจะทำข้าวกล่องแจกก็กลัวจะทำผิดกฎหมาย จึงต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำและประสานงานในการแจกข้าวกล่องเพื่อให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ ปลอดภัยและถูกหลักอนามัยมากที่สุด

ด้านเชฟวิลเมนกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ เราไม่เพียงแต่แจกอาหารแต่เราช่วยเหลือผู้ขาดรายได้ด้วย โดยจัดการปรุงอาหารด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือเชฟมืออาชีพ ส่งผ่านกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันไปยังชุมชนต่างๆ ถึง 50 ชุมชนในกทม. ตลอดโครงการมีเป้าหมายแจก “ข้าวกล่องเชฟฮัก” จำนวน 40,000 กล่อง ภายใน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-20 พ.ค.นี้ คณะผู้จัดทำโครงการยังดำเนินโครงการนี้ในลักษณะการสร้างรายได้ ช่วยเหลือจิตอาสาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากงานประจำ โดยกำหนดงบประมาณจัดจ้างกลุ่มบุคคลทุกกลุ่มที่เข้ามาช่วยดำเนินการยกเว้นคณะผู้ริเริ่มโครงการ

“โครงการข้าวกล่องเชฟฮักมุ่งหวังให้เป็นโครงการต้นแบบที่นำความรู้และประสบการณ์ในการปรุงอาหาร การจัดการด้านอาหารอย่างมืออาชีพ รวมไปถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งอิ่มท้อง ปลอดภัย สร้าง รายได้ สร้างงาน ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของสังคม เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ใช้คำว่า ‘เชฟฮัก’ ไม่มีอ้อมกอด

แต่มีรักที่อยากแบ่งปัน CHEFHUG, No hug but love to share หมายถึงภายใต้สถานการณ์โควิด เราไม่มีโอกาสกอดกัน แสดงความรักต่อกัน เพราะต้องรักษาระยะห่าง แต่เชฟอย่างเราถึงแม้กอดไม่ได้แต่ก็ยังมีใจที่จะแสดงความห่วงใยและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดไป” เชฟวิลเมนกล่าว

หลังจากนั้นเชฟวิลเมนนำคณะสื่อมวลชนชมพื้นที่ภายในมติชน อคาเดมี สถานที่ที่จะใช้ปรุงอาหาร เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับผักและวัตถุดิบ ใช้พื้นที่ภายนอกตัวอาคารล้างผักและเก็บใส่ตู้แช่ทันที เป็นพื้นที่โปร่งมีลมถ่ายเทตลอด

จากนั้นนำวัตถุดิบขึ้นไปยังห้องครัวที่ชั้นสองของอาคาร ภายในห้องครัวมีทั้งหมด 4 ครัวเพื่อให้เชฟช่วยกันทำอาหารกล่องให้ครบตามกำหนด ก่อนส่งลงมาให้เจ้าหน้าที่บรรจุอาหารใส่กล่องแล้วนำให้รถแท็กซี่ช่วยกันกระจายส่งสู่ชุมชน เน้นความสะอาด เจ้าหน้าที่ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากเฟซชีลด์ ถุงมือ เว้นระยะห่างเพื่อให้ได้อาหารที่ได้มาตรฐานปลอดภัยที่สุด ทั้งยังใช้เวลาทำรวดเร็ว อาหารถึงมือผู้รับโดยยังร้อนๆ พร้อมรับประทาน

โครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด” ได้รับการสนับสนุนจาก ช่อง ONE, ผลิตภัณฑ์เบทาโกร, SCG และสมาคมเชฟโลกโดยหน่วยงาน World Chefs without borders ซึ่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วโลกโดยใช้ศักยภาพของบุคลากรเชฟจากทั่วโลก ผ่านการระดมทุน การปรุงอาหาร การจัดการทางด้านอาหารแบบมืออาชีพในระดับสากล ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ได้รับการประชาสัมพันธ์ไปอย่างกว้างขวาง และเป็นต้นแบบการแจกอาหารที่เป็นมาตรฐานแห่งแรกของโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน