แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

ชูชุมชน-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม

ประเดิม‘หน้ากากผ้า’งานฝีมือสู้โควิด

โดย…ธีรดา ศิริมงคล

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’ – CraftNomads คราฟต์โนแมดส์ คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความหลงใหลและเห็นคุณค่าของงานศิลปะ งานฝีมือ หัตถกรรม พื้นบ้าน เกิดขึ้นโดย สุนิตย์ เชรษฐา Change Fusion และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 ท่าน

คนหนึ่งเป็นผู้บริหารจากแวดวงธุรกิจ และอีกท่านเป็นผู้บริหารจากวงการโฆษณา ซึ่งมีความเชื่อร่วมกันในหลักการของงานคราฟต์ที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Crafts และมีอุดมการณ์ร่วมในการตั้งใจสร้างพื้นที่ เพื่อคัดสรร และบอกเล่าเรื่องราวของชิ้นงานคราฟต์

ภายใต้ หลักการของการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความเป็นธรรมกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ความรับผิดชอบและเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนแฟชั่นเนิบช้าที่ยั่งยืน

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

คราฟต์โนแมดส์เริ่มเปิดตัวครั้งแรกโดยร่วมกับศิลปินงานคราฟต์ แนว Sustainable Crafts ได้แก่ ปิลันธน์ ไทยสรวง แห่ง ภูคราม (Bhukram), เกรียงไกร บุญเหลือ แห่ง วันทา (Vanta), ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ แห่ง โฟล์กชาร์ม (Folkcharm), ซึ่งคราฟต์โนแมดส์ ได้คัดมาแล้วว่า นอกจากงานจะสวย มีเอกลักษณ์ ยังเป็นศิลปิน คราฟต์ที่ยึดหลักการของความยั่งยืนในทุกมิติ

ภูคราม เป็นกลุ่มที่ทำผ้าฝ้ายทอมือ เข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติ ร่วมกับชาวบ้านที่ชุมชนภูพาน จ.สกลนคร โดดเด่นในเรื่องของการปักลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในพื้นที่

โฟล์กชาร์ม เป็นการรวมตัวกับชาวบ้านและเกษตรกรผู้ปลูกผ้าฝ้ายธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ที่ปลูกแบบอินทรีย์จาก 2 อำเภอ 4 หมู่บ้าน จังหวัดเลย นำมาตัดเย็บโดยช่างมากฝีมือที่ กทม.

และกลุ่ม วันทา เป็นกลุ่มที่ทอผ้าฝ้ายออร์แกนิก ย้อมสีธรรมชาติ ของกลุ่มเกษตรกรที่มีอาชีพเสริมเป็นการทำหัตถกรรมและงานฝีมือของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

เกรียงไกร บุญเหลือ แห่ง วันทา (Vanta)

ศิลปินคราฟต์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ต่างก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ ต่างพื้นที่กัน และพยายามที่จะดึงฝีมือ เอกลักษณ์ ภูมิปัญญา ของแต่ละท้องถิ่นออกมาเพิ่มเสน่ห์ จุดขาย เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ วิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสร้างคุณค่าให้กับงานฝีมือแต่ละชิ้น

ที่สำคัญเป็นฝีมือของชาวบ้านในชุมชนแทบจะทุกขั้นตอนเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่ทำการเกษตรและทำงานฝีมือเป็นรายได้เสริม เน้นผลิตชิ้นงานที่เป็นเสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

ภูคราม

แต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในการลงไปทำงานกับคนในพื้นที่จริงๆ เพราะธรรมชาติความดั้งเดิมของชาวบ้านไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่นที่ เกรียงไกร บุญเหลือ กลุ่มวันทา เล่าให้เราฟัง ว่าครั้งแรกเขาเสนอแนวคิดให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการทอผ้าไหมย้อมสีเคมี มาเป็นทอผ้าฝ้ายย้อมสีแบบออร์แกนิก ทำให้ชาวบ้านไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

วันทา (Vanta)

“เริ่มแรกมีแม่ๆ ในหมู่บ้านร่วมทำงานด้วยเพียงสองคน แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านเริ่มเห็นว่าทำได้จริง และมีรายได้ที่เป็นรายได้เสริมมากขึ้น เพราะเราพยายามที่จะมอบรายได้ให้เขาแบบเต็มๆ เขาก็เริ่มมาเข้าร่วมมากขึ้น ต้องพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ เพื่อให้เขาผลิตชิ้นงาน ออกมาอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังขอต้นพันธุ์ไม้ย้อมสีจากธรรมชาติจากตัวจังหวัด มาให้ชาวบ้านได้ปลูก เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้จากการขายผลผลิตให้กับทางวันทาอีกทางหนึ่งและในชุมชนจะได้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มด้วย”

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

วันทา (Vanta)

ปิลันธน์ ไทยสรวง จากกลุ่มภูคราม เล่าว่า การสร้างงานของกลุ่มภูคราม พยายามเน้นการอนุรักษ์งานของชุมชน ให้ชาวบ้านปลูกฝ้าย มีขบวนการตัดเย็บ เราพยายามฝึกการปักผ้า ฝึกเทคนิคการปักให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีการทำงานปักมาก่อน

การฝึกนี้มีต้นทุนที่ต้องเสียไปเยอะมาก แต่ก็เป็น ต้นทุนในการผลิต ทำให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้จริงๆ ให้ชาวบ้าน แต่การทำงานนั้นต้องเข้าใจบริบทเข้าใจความเป็นธรรมชาติของชุมชนนั้นๆ ด้วย หากสิ่งไหนที่สำคัญและต้องอนุรักษ์ก็ต้องเข้าใจ ต้องศึกษาพื้นที่นั้นมากๆ เราต้องตระหนักถึงพื้นที่นั้นจริงๆ ก่อน ในการจะทำงานกับชุมชน

ส่วน ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ จาก กลุ่มโฟล์กชาร์ม เล่าว่า ตอนแรกที่เราลงมาทำเราเห็นว่าชาวบ้านประสบปัญหารายได้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดราคา ชาวบ้านก็เลยต้องชินกับการขายของถูก ไม่มีใครอยากมาสานต่องานพวกนี้เพราะสร้างรายได้ได้น้อย ถ้าเราจะให้รายได้ที่เหมาะสมกับงานฝีมือที่ชาวบ้านทำ สินค้าก็ต้องมีราคาที่เหมาะสมกับงานฝีมือของชาวบ้าน และต้องเป็นราคาที่ผู้บริโภครับได้ เราจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จริงๆ

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

“นอกจากนี้งานของเรายังมีการติดแท็กหมดเลยว่า การปั่นเส้นฝ้าย การย้อม การทอ คนตัดเย็บ ถ้าคุณซื้อสินค้าเรา คุณจะทราบข้อมูลทั้งหมด มีสตอรี่ของงาน และเราอยากให้ผู้บริโภคทราบว่า เขายังมีทางเลือกในการบริโภคอื่นๆ นอกจากแบรนด์ ไฮเอนด์ หรือแบรนด์ทั่วๆ ไปตามท้องตลาด”

สำหรับงานของคราฟต์โนแมดส์ สุนิตย์ เชรษฐา กล่าวว่า เดิมทีนั้นคราฟต์โนแมดส์วางแผนไว้ว่า จะสร้างพื้นที่ให้งานคราฟต์ที่เข้าข่ายมิติต่างๆ ของงานคราฟต์ที่ยั่งยืน ทั้งด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาสังคม ชุมชน ความเป็นธรรมกับศิลปินผู้สร้างงาน ความ รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านแนวคิดแฟชั่นเนิบช้าแต่ยั่งยืนเหล่านี้ได้มีช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขายสินค้า

โดยเน้นการช่วยเพิ่มช่องทางที่หลากหลาย เล่าเรื่องและสื่อสารถึงความพิเศษ และมิติของความยั่งยืนของศิลปินและชิ้นงาน สร้างความเข้าใจของลูกค้าและสังคมในวงกว้างให้มากขึ้นต่องาน คราฟต์ที่ยั่งยืน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยอาจพัฒนาต่อยอดสินค้าร่วมกันของศิลปินแต่ละกลุ่ม

เช่น สร้างสรรค์ผลงานเป็น คอลเล็กชั่นพิเศษเพื่อคราฟต์โนแมดส์ โดยเฉพาะ มีการจัดพื้นที่ Pop-Up Store ให้ผู้สนใจได้สัมผัสงานได้รับประสบ การณ์จากการเล่าเรื่อง และพูดคุย เรื่องราวของงานคราฟต์ เพื่อสื่อสารได้ลึกซึ้งขึ้น ตรงจุดตรงกลุ่มมากขึ้น

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

โฟล์กชาร์ม (Folkcharm)

กระทั่งเมื่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้งานหลายส่วนต้องหยุดชะงักไป แต่ช่วงเวลานี้กลับเป็นที่มาของงานแรกในฐานะคราฟต์ โนแมดส์ คือ “หน้ากากผ้า” ภายใต้ชื่อโครงการ “Craft It Forward” ที่เป็น exclusive design จากแบรนด์ภูคราม, วันทา และโฟล์กชาร์ม ที่ทำเรื่องงานผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติร่วมกับชุมชน มีทั้งหมด 9 รุ่นพิเศษ

หน้ากากผ้าของคราฟต์โนแมดส์ เกิดจากแนวคิดที่ว่า ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ทำให้คนทั่วโลกต้องใช้หน้ากาก และกำลังประสบปัญหาขยะหน้ากากที่เพิ่มมากขึ้นมหาศาล อาจทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคต การหันมาใช้หน้ากากผ้านั้นไม่เพียงลดปัญหาในการขาดแคลนหน้ากาก

แต่ยังลดปัญหาขยะ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หน้ากากผ้าจากภูคราม, วันทา และ โฟล์กชาร์ม ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชนที่กำลังเผชิญพิษโควิด-19 ทำให้ รายได้หลักลดลงได้อีกด้วย

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

โฟล์กชาร์ม (Folkcharm)

จุดเด่นของหน้ากากผ้า จากทั้งสามแบรนด์นั้น แตกต่างกันไป แต่จะทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% อ่อนโยนต่อการสัมผัสและปลอดภัยต่อผิวหน้า หน้ากากผ้าชั้นนอกเป็นผ้าฝ้ายทอมือเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ บวกกับผ้ามัสลิน/ผ้าฝ้าย Jersey อีกสองชั้น รวมทั้งหมดเป็น 3 ชั้น

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ กรอง ออกแบบเรียบง่ายให้เข้ากับชุดเสื้อผ้าได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่าจะซ้ำใครเพราะเป็น limited edition มีจำนวนจำกัดเพียง 800 ชิ้นเท่านั้น ขณะนี้ได้เปิดช่องทางการขายผ่านออนไลน์ทางเว็บไซต์ และในเพจเฟซบุ๊ก CraftNomads

โครงการนี้สามารถช่วยชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้คนมีอาชีพ มีรายได้เสริม และรายได้ตรงนี้จะกระจายสู่ชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีการมอบรายได้ 20% ของรายได้ ไปสมทบทุนโครงการของวิสาหกิจเพื่อสังคม 141 ในการจัดทำหน้ากากผ้า สำหรับเด็กขาดโอกาสในค่ายลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่ง รวมราวๆ 20,000 คน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อถ้าไม่ได้รับการป้องกัน

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

โฟล์กชาร์ม (Folkcharm)

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการมอบหน้ากากให้ถึงมือเด็กๆ ทุกคน เรียกได้ว่าการซื้อของเพียง 1 ชิ้นจากคราฟต์โนแมดส์ คุณได้ช่วยตัวคุณเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค และฝุ่นควันอันตราย ได้ช่วยศิลปินคราฟต์ให้ได้ทำงานดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้เสริม ได้ช่วยเด็กๆ ที่ขาดโอกาส ให้มีโอกาสได้รับหน้ากากไปใช้ และยังได้ช่วยสิ่งแวดล้อมโดยการลดขยะหน้ากาก ที่เป็นพิษต่อโลกของเรา คุณจะได้ประโยชน์อย่างมากมายคุ้มค่าเงินที่เสียไปอย่างแน่นอน

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

โฟล์กชาร์ม (Folkcharm)

ปกติทั้ง 3 กลุ่มศิลปินคราฟต์จะต้องมีระยะเวลาในการผลิตสินค้าเนื่องจากเป็นสินค้าทำมือทั้งหมด และใช้วิธีการขายสินค้าผ่านการออกบูธเนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า ที่ลูกค้าอยากจับต้อง ทดลอง และมีการขายผ่านออนไลน์บ้าง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การออกบูธพบปะลูกค้าต้องชะงักลง และต้องขายผ่านทางออนไลน์เท่านั้น

จุดนี้เองทำให้การขายออกทำได้ยากมากขึ้น ทางแบรนด์ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลไปยังชาวบ้านที่รายได้เสริมลด ยังโชคดีที่ได้ร่วมกันทำหน้ากากผ้า พอให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมลงไปยังชุมชนอยู่บ้าง คราฟต์โนแมดส์จึงจำเป็นต้องขยายการขายทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ระหว่างที่เรายังคงต้องมีมาตรการ social distancing

แท็กทีม‘คราฟต์โนแมดส์’

หากใครสนใจสินค้าหรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับงานคราฟต์ที่ยั่งยืน เข้าไปเยี่ยมชมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก CraftNomads ไอจี CraftNomadsshop และ www.craftnomads.com หรือทาง ช่องทางออนไลน์ของ ภูคราม (Bhukram), วันทา (Vanta) และ โฟล์กชาร์ม (Folkcharm) โดยตรง

การสร้างงานฝีมือแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละชิ้นมีเรื่องราว มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ของตัวเอง งานของคราฟต์โนแมดส์ ยังเป็นงานที่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน หากคุณได้ลองเปิดใจสัมผัสดูสักครั้งคุณจะเห็นว่ามันมีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่เสื้อผ้าชิ้นหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน