วุฒิสมาชิก-เจตนารมณ์ : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

วุฒิสมาชิก-เจตนารมณ์ – ก่อนจะมีวุฒิสมาชิกแต่งตั้งทั้งหมด ทุกวันนี้ วุฒิสภา มีความเป็นมาและเจตนารมณ์เดิมอย่างไร

บักหุ่ง

ตอบ บักหุ่ง

“…ที่เราจําต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลําพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎรอาจเป็นผู้ที่มีกําลังในทางทรัพย์

คณะราษฎรปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเองโดยไม่จําเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้นจึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดําเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง…”

คือถ้อยแถลงของนายปรีดี พนมยงค์ แห่งคณะราษฎรต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งในกาลต่อมาเรียกว่า วุฒิสมาชิก ทำหน้าที่ในวุฒิสภา

ทั้งนี้ ย้อนประวัติได้ว่าวุฒิสภามีพัฒนาการเริ่มแรกในรูปแบบของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 2 ประเภท ซึ่งสมาชิกประเภทที่ 2 นี้เองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งดังกล่าว

อย่างไรก็ตามครั้งนั้นยังไม่ถือว่าวุฒิสภากำเนิดขึ้นอย่างแท้จริงวุฒิสภาเกิดขึ้นและมีบทบาทอย่างแท้จริงในระบบรัฐสภาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 จากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ได้กำหนดให้มีรัฐสภา

ประกอบด้วยสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยสมาชิกพฤฒสภามีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จำนวน 80 คน ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าจะให้ประเทศไทยมีสถาบันหลักทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎร

แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นผลให้ต้องมี 2 สภาอย่างรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2489 มีห้วงบังคับใช้ไม่นานนัก ภายหลังถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 พร้อมการเริ่มใช้ชื่อ “วุฒิสภา” ทำให้คำว่า “พฤฒสภา” เป็นอันสิ้นสุดการใช้งานแค่พ.ศ. 2490 นั้นเอง

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โปรดเกล้าฯ ตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 คน และวันที่ 24 พ.ย. ที่ประชุมวุฒิสภาเลือก เจ้าพระศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานวุฒิสภา พระยาอภิบาลราชไมตรี เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และพลโท พระยาสีหาราชเดโชชัย เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2

(ซ้าย) นายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา ระหว่าง 3 มิ.ย. 2489-24 ส.ค.2489 (ขวา) พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ที่ประชุมพฤฒสภา

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน