ล็อกดาวน์ลดเสี่ยงโควิด แต่โรคประจำตัวหยุดรักษาไม่ได้

ล็อกดาวน์ลดเสี่ยงโควิด แต่โรคประจำตัวหยุดรักษาไม่ได้ – ช่วงนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ตามมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อในสภาวะวิกฤตของโรคระบาดโควิด-19

แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวคงใช้ชีวิตในสถานการณ์นี้อย่างยากลำบาก หลายคนมีความกังวลที่จะต้องเดินทางมา โรงพยาบาล เพื่อรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากหยุดการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลเสียต่อสุขภาพและมีความเสี่ยงมากกว่า

นพ.ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำศูนย์หัวใจโรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจมีอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิต มากกว่าปกติ

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรมีการตรวจและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตโรคตับ โรคปอด ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการค่อนข้างชัดเจน จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอาการ รวมถึงระวังภาวะแทรกซ้อนของโรคอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของโรคอาจจะยังไม่เห็นชัดในตอนนี้ แต่จะส่งผลใน 1 ปี หรือ 4-5 ปีข้างหน้า

นพ.ศิรพัชร์กล่าวต่อว่า โรคหัวใจ เป็นอีกหนึ่งโรคประจำตัวที่ควรได้รับการรักษาและดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน จำเป็นต้องปรับตัวยาเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การปรับยาค่าแข็งตัวของเลือด ในคนไข้ที่เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดขึ้นมาในหัวใจได้ อาจทำให้ไปอุดตันที่สมองหรือส่วนอื่นๆ

ซึ่งในเมื่อก่อนแพทย์จะให้กินยา วาฟาริน (Warfarin) คือยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด ใช้เพื่อช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งการใช้ยาวาฟารินจำเป็นต้องได้รับการวัดระดับค่าแข็งตัวของเลือดเป็นประจำ นอกจากนี้วาฟารินยังอาจตีกับยาตัวอื่นหรือแม้แต่อาหารที่รับประทานได้ค่อนข้างบ่อย เพราะฉะนั้นควรต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

นพ.ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

 

ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลในการเดินทางมารักษา โรงพยาบาลนครธนจึงมีการใช้ระบบ Telemedicine เป็นบริการพบแพทย์ตามนัด รักษาต่อเนื่องผ่านวิดีโอคอล และสำหรับผู้ป่วยที่ต้องมีการเดินทางมาเจาะเลือด โรงพยาบาลจะมีบริการเจาะเลือด จุดตรวจพิเศษเฉพาะบุคคล และสามารถรอรับผลเลือดได้ที่บ้าน

นอกจากนี้ยังมีบริการจัดส่งยาถึงบ้านในกรณีที่แพทย์มีการสั่งยา เพื่อลดเวลาการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ลดความเสี่ยงการรับหรือแพร่เชื้อ และหนึ่งในวิธีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งบริการนี้จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการรักษาโรคหัวใจให้กับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์ โรคโควิด-19 เป็นอย่างดี

แต่ถึงอย่างไรยังคงแนะนำให้ผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลดีที่สุด โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่น เหนื่อย วูบใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก นอนราบไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

นพ.ศิรพัชร์กล่าวย้ำว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจ มีโอกาสติดโรคโควิด-19 เหมือนคนทั่วไป แต่อาจส่งผลรุนแรง และอาจมีอัตราความเสี่ยงการเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ

นพ.ศิรพัชร์กล่าวด้วยว่า ดังนั้นผู้ป่วยต้องดูแลตนเองทั้งในโรคประจำตัวและโรคโควิด-19 โดยปกติแพทย์จะมีคำแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองเมื่ออยู่บ้าน ทั้งในเรื่องการลดอาหารหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายตามความ เหมาะสม ในส่วนของการป้องกันส่วนอื่น เช่น การฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว แพทย์จะแนะนำวัคซีนป้องกันไว้ก่อนอยู่แล้ว

โดยวัคซีนควรฉีดเกือบทุกคนที่มีโรคประจำตัว คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรฉีดเป็นประจำทุกปี เพราะสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนไปทุกปี และถ้าเป็น ผู้ป่วยที่มีภาวะจำเพาะ เช่น สูงอายุมาก ไม่เคยมีเรื่องของงูสวัดเลย อาจจะแนะนำให้ฉีดป้องกันงูสวัด หรือวัคซีนในเรื่องของ IPD ที่ป้องกันการเป็นปอดบวมแบบ ขั้นรุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน