รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ตอบ น้องหญิง

คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ.2380 ด้วยพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบและเสบียงอาหารไปยังญวน (เวียดนาม) ในราชการสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบนานถึง 14 ปี ทั้งนี้ คลองมีความยาวทั้งสิ้น 72 กิโลเมตร

คลองแสนแสบแบ่งเป็นคลองแสนแสบใต้ และคลองแสนแสบเหนือ คลองแสนแสบใต้เริ่มจากคลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานในการขุด ส่วนคลองแสนแสบเหนือเริ่มจากหัวหมากไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารว่า ขุดขึ้นในพ.ศ.2380 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า

“ครั้นมาถึงเดือนยี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีระกา นพศก จุลศักราช 1199 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนากฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทราเป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา ขุดอยู่ถึงปีชวดโทศก ศักราช 1202 จึงสำเร็จ”

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีการอพยพผู้คนเชื้อชาติต่างๆ มาตั้งถิ่นฐานทางด้านตะวันออกนอกเขตเมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับเมือง เมืองเติบโตและขยายตัวมาทางฝั่งตะวันออกตามแนวคลอง โดยมีวัด มัสยิด และวังที่สร้างขึ้นริมคลองเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหม่ คลองมหานาคและคลองแสนแสบจึงเป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์กับเมืองปาจิณ(ปราจีนบุรี) และแปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา)

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองมีนบุรีขึ้นคู่กับธัญบุรี เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในเมืองและปริมณฑล การทำเกษตรในเชิงธุรกิจเริ่มมีมากขึ้น มีการขุดคลองเชื่อมและคลองซอยขึ้นเป็นจำนวนมากในลักษณะเครือข่ายที่เชื่อมโยงพื้นที่การเกษตรทั้งสองเข้าด้วยกันกับแหล่งผลิตอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยมีคลองแสนแสบเป็นเส้นทางหลักที่ลำเลียงสินค้าเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดซ่อมคลองแสนแสบจากเดิมซึ่งกว้าง 6 วา เป็นกว้าง 8 วา กับให้มีทางโยงทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งละ 6 ศอกด้วย เพื่อให้การคมนาคมและการค้าขายซึ่งนับวันจะขยายตัวสูงขึ้นได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
2
ที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น มีข้อสันนิษฐานหลายทาง ดังนี้

1.ว่ากันว่าชื่อคลองที่เรียกว่า แสนแสบ นั้นเพราะยุงชุม โดยมีหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อ ดี.โอ. คิง ว่า “…คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท…คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์…ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ…”

2.ว่าเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า แสสาบ เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า เส หรือ แส ส่วน สาบ เป็นภาษาเขมรแปลว่า จืด คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า ทะเลสาบ ดังนั้น แสสาบ หรือที่แปลว่า ทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น แสนแสบ ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไทยกวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็น แสนแสบ

3.ว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำมลายู แซนแญป ของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ สมัยรัชกาลที่ 1 และมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 จึงให้มาอยู่ตามแนวคลองนั้น และเนื่องจากเคยอาศัยอยู่ริมคลองใกล้ทะเล กระแสน้ำแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำไหลช้า ค่อนข้างนิ่ง จึงเรียกคลองนี้ว่า สุไหงแซนแญป หรือ คลองที่เงียบสงบ โดย สุไหง แปลว่า คลอง หรือ แม่น้ำ และ แซนแญป หมายถึง เงียบสงบ ต่อมาเรียกเพี้ยนกันไปเป็น แสนแสบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน