เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมโอกาสที่เท่าเทียมกัน มีหลายชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ โชคชะตาชีวิตพลิกผันให้ที่สุดท้ายแล้ว ต้องเติบโตในสถานสงเคราะห์ฯ

แต่ก็ไม่ใช่ฝันร้ายเสียทีเดียว จะเรียกว่าเป็นการสร้างต้นทุนใหม่ให้กับชีวิตพวกเขาเลยก็ว่าได้ ที่บอกแบบนี้เพราะได้ไปสัมผัสและเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ที่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต .ปทุมธานี เมื่อไม่นานมานี้ พวกเด็กๆ ต่างสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดแทรกความรู้ การใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้เด็กๆ กลายเป็นคนสุขุม จริงจัง และเจ้าระเบียบวินัยเอาเสียมากๆ อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่สมวัย บางคนก็นับว่าโชคดีมีผู้ขอรับเป็นบุตรบุญธรรม พาไปอยู่ไกลถึงต่างแดนก็มี

สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต” เป็นหนึ่งหน่วยงานภายใต้ความดูแลของ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ละปีจะมีเด็กอายุ 3-6 ขวบ ผลัดเปลี่ยนมาสร้างต้นทุนชีวิตในรั้วแห่งนี้ แต่ก็มีไม่มากเพราะที่แห่งนี้ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำเด็กกลุ่มนี้เข้ามา

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า เด็กที่เข้ามาสู่สถานสงเคราะห์ฯ จะเป็นเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง หรือเด็กที่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดู โดยเด็กที่เข้าสู่สถานสงเคราะห์ฯ จะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัย มีคุณครูพี่เลี้ยง 1 ต่อ 5 คน และจะใช้วิธีการสอนแบบ มอนเทสซอรี ซึ่งเป็นการพัฒนาเด็กโดยผ่านการเคลื่อนไหว เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาเล่น ผ่านประสบการณ์ของพวกเขาเอง และพวกเขาจะเกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ได้สัมผัส

สำหรับสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิตนั้น มีห้องเรียนมอนเทสซอรีสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี อยู่ 1 ห้องเรียน ซึ่งสามารถรองรับเด็กได้จำนวน 30 คน โดยในกระบวนการเรียนรู้แบบมอนเทสซอรี เราต้องการให้เด็กได้รับโอกาสในการเปิดเผยศักยภาพ เรียนรู้และสามารถทำได้ จะเน้นการสอนเด็กเป็นรายบุคคล เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีความถนัดหรือสนใจในสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนถนัดคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือเรียนรู้ผ่านการฟัง เด็กแต่ละคนจะได้ทำงานตามความสนใจของตัวเอง

รวมถึงเน้นการเรียนรู้โดยคละช่วงอายุควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เด็กๆ ได้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการจำลองสังคมให้เด็กช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เด็กอายุโตกว่าได้สอนเด็กที่เล็กกว่า น้องเล็กกว่าได้ชื่นชมพี่ๆ ที่สามารถทำงานได้ และนำมาเป็นความพยายามในการพัฒนาตัวเองให้สามารถทำได้

การนำเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ฯ ต้องบอกว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เราจะเอาเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ฯ เพราะว่าเด็กที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ เป็นเด็กกำพร้า เป็นเด็กที่พ่อแม่ยากจนเลี้ยงดูไม่ได้ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องมีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปเยี่ยมบ้านก่อนว่าสามารถเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ยากจนจริงหรือไม่ เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหรือเปล่า เราเหมือนเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีเด็กเข้ามาไม่ถึง 100 คน เพราะเราใช้กระบวนการให้อยู่ในครอบครัวให้มากที่สุด ประกอบกับกรมฯ มีนโยบายที่จะลดเด็กในสถานสงเคราะห์ฯ ให้ได้ปีละ 10% ด้วย นั่นหมายความว่าเด็กควรจะอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่หาผู้รับอุปการะเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวพี่ป้าน้าอา ครอบครัวที่ไม่ใช่เครือญาติแต่ประสงค์รับเลี้ยงเด็ก

นางสุภัชชา สุทธิพล กล่าวต่อว่า หลายๆ ประเทศมีการพัฒนาเด็กโดยใช้การสอนแบบมอนเทสซอรี ซึ่งได้ผ่านการวิจัยเชิงทดลองแล้วว่าวิธีการนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการได้ดีในเรื่องของความเป็นอยู่ พัฒนาในทุกๆ มิติ ทางกรมฯ จึงนำรูปแบบนี้มาใช้ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นจากการใช้รูปแบบนี้ในการพัฒนาเด็ก พบว่า เด็กๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

เพราะว่าเราไม่ใช้วิธีการตำหนิ จะใช้วิธีส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากตัวเขาเอง เช่น ถ้าเขาทำอะไรผิดพลาด จะหาทางเลือกให้เลือกว่าทำแบบนี้ดีไหม แล้วปล่อยให้เด็กได้ทำจนสิ่งนั้นสำเร็จ ก็จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันเด็กก็จะไม่ได้มีความรู้สึกว่าถูกตำหนิด้วย เราเห็นว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดี เด็กโตขึ้นก็เป็นเด็กที่มีวินัย อย่างเวลาที่เด็กทำกิจกรรมเสร็จแล้วจะรู้จักเก็บของของตัวเองเข้าที่ เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ในระดับที่เด็ก 3-6 ขวบ สามารถทำชีวิตประจำวันได้แบบนี้ ก็เป็นความพอใจของเรา

สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน กรมฯ ก็ได้จัดสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงเด็กและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยอุปกรณ์ภายในห้องเรียนล้วนเป็นขนาดของเด็กที่เด็กสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ อ่างล้างมือ อ่างล้างจาน ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่สามารถแตกหักได้จริง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ถึงความเป็นจริงว่าสิ่งของสามารถแตกหักได้ ทำให้เกิดความตระหนักในการทำงานอย่างระมัดระวัง และเป็นระเบียบเรียบร้อย

การเรียนการสอนแบบมอนเทสซอรี ถือได้ว่าช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกงานของตนเองในแต่ละวัน ตามความสนใจและความต้องการของตนเองในช่วงเวลานั้นๆ อย่างมาก ทั้งนี้ การมีอิสระในการเลือกของเด็กนั้นก็จะมาพร้อมกับข้อตกลงภายในห้องเรียนที่ว่า กิจกรรมที่สามารถเลือกได้นั้นจะต้องเป็นอุปกรณ์/กิจกรรมที่เด็กเคยได้รับการนำเสนอบทเรียนของอุปกรณ์เหล่านั้นจากคุณครู หรือเพื่อนในห้องเรียนมาก่อน

ทั้งหมดนี้ ก็จะช่วยให้เด็กรู้วิธีการใช้งานอุปกรณ์ หรือการทำงานของบทเรียนที่ครูตั้งใจนำเสนอ ได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้น เด็กๆ จะเป็นผู้เรียนรู้ผ่านการทำงานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนเกิดความสมบูรณ์แบบด้วยตนเองในที่สุด โดยการจัดการเรียนการสอนตามแบบมอนเทสซอรี ก็จะมีอยู่ 5 หมวดหลักๆ ได้แก่ หมวดชีวิตประจำวัน, หมวดประสาทรับรู้, หมวดภาษา, หมวดคณิตศาสตร์, และหมวดงานวัฒนธรรม

ทั้งนี้ หากอยู่ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองปกติ ที่แห่งนี้ก็จะมีผู้แวะเวียนมาเลี้ยงอาหารน้องๆ เข้ามาคลุกคลีและเล่นกับพวกเขา นำสิ่งของมาบริจาคอย่างไม่ขาดสาย แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง จึงทำให้วันนี้ที่แห่งนี้มีมาตรการการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า กลายเป็นสถานที่ปิดที่ทุกแววตาเท่าที่เห็นแม้จะเป็นแววตาแห่งความสุข แต่ต่างที่จะรอคอยความหวังและกำลังใจจากผู้ที่มาเยี่ยม

ถ้าหมดโรคโควิด-19 ไปแล้ว ไปร่วมส่งมอบความสุขและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสเหล่านี้ที่สถานสงเคราะห์ฯ กันได้ ซึ่งเชื่อว่าทุกๆ พลังของการให้ จะเป็นอีกกำลังใจสำคัญ ให้เด็กรับรู้ได้ว่า สังคมไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขา


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน