สัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนไทย

เริ่มต้นจากนักข่าวข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ประวิตร โรจนพฤกษ์ เข้ารายงานตัวกับตำรวจในข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาด้วยข่าวนักข่าวสำนักข่าว “อิศรา” ถูกจับในข้อหาบุกรุก ขณะปฏิบัติหน้าที่ และการสั่งปิดสถานี “พีซทีวี” เป็นเวลา 30 วันเพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ทำให้องค์กรสิทธิเตือนว่า อาจจะเป็นการพยายาม “เซ็นเซอร์สื่อ”

คำว่าเซ็นเซอร์ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ มาจากภาษาอังกฤษว่า censor

การเซ็นเซอร์เรียกว่า censorship

คำว่า censor นี้มีสามความหมาย ความหมายแรกเป็นคำกริยา แปลว่าการปิดกั้น ตัดตอน ปกปิดข้อมูลหรือข่าวสาร ตามที่เราทราบกัน

อีกความหมายหนึ่งเป็นคำนาม แปลว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจข่าวหรือลบข้อมูลข่าวสารให้แก่รัฐ

และความหมายที่สาม คือตำแหน่งข้าราชการสำคัญในสมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมและการปฏิบัติงานของข้าราชการคนอื่นๆ

มีอีกคำหนึ่งที่ออกเสียงคล้ายกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน คือคำว่า sensor อ่านว่าเซ็นเซอร์ แปลว่าอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวหรือปฏิกิริยาต่างๆ

แน่นอนว่า การพยายามเซ็นเซอร์สื่อคือการกระทำที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล

ดังเช่นที่ โทมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและนักรัฐศาสตร์คนสำคัญ กล่าวไว้ว่า “Our liberty depends on the freedom of the press”

แปลว่า “เสรีภาพของปวงประชา อิงอยู่กับเสรีภาพของสื่อมวลชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน