ในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากชาติสมาชิกกว่า 193 ประเทศ เพื่อประชุมถึงการสิ้นสุดลงของเป้าหมายแห่งการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ในปี 2558

จากนั้นในปี 2559 มีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนในการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน อันถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals-SDGs) และการพัฒนาโลกต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้าคือนับแต่ปี 2559-2573

วาระ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” นับเป็นการสานต่อภารกิจการทำงานที่ยังไม่บรรลุประสงค์ตามเป้าหมายของ MDGs ในการมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติ และทุกรูปแบบ

ผลเช่นนี้จึงทำให้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมาย (Sustainable Development Goals-SDGs & Targets) ที่ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (Goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (Targets) 169 ข้อ ต้องดำเนินการต่อ เพื่อครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายมิติด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

เพียงแต่ในที่นี้ มีอยู่เพียง 5 ข้อใน 17 ข้อ ที่พยายามโยงให้เห็นถึงเรื่อง “ความร่วมมือกัน” หรือ “Collaboration” อันถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

หนึ่ง ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่

สอง ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าหมาย ความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

สาม สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศ ทุกวัย

สี่ สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับทุกคน

ห้า บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี และเด็กหญิง

แต่กระนั้น การที่แนวทางในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อหนึ่งถึงห้า หลายภาคส่วนจะต้องมีความร่วมมือกัน (Collaboration) เสียก่อน และไม่เฉพาะแต่ประเทศต่างๆ บนโลกนี้เท่านั้น หากองค์กรในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ที่จะต้องมีความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

จนนำมาเป็นธีมคอนเซ็ปต์ของการจัดงานสัมมนาเพื่อสังคม ประชาชาติธุรกิจฟอรั่ม CSR 360 องศา รวมใจ-นำไทยยั่งยืน

ไม่เพียงจะมี “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา

หากยังมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้า และการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อที่ชื่อ “CSR ประชาคมโลก-ประชารัฐไทย”

 

 

โดยในส่วนนี้ ดร.ศุภชัยจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของประชาคมโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของ SDGs ยิ่งเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ Collaboration

พร้อมกันนั้น จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาของประชารัฐไทยต่อกระบวนการทำงานทางด้านกิจกรรมเพื่อสังคม

ทั้งนั้นเพราะช่วงผ่านมา “ดร.ศุภชัย” เคยมองว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่เกิดขึ้นจากตะวันตกมายังตะวันออก และรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกจะกลายเป็นโลกาภิวัฒน์รูปแบบใหม่ ที่ไม่เหมือนกับช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา และไม่ใช่การถอนตัวออกจากโลกาภิวัฒน์ที่เรากำลังจะก้าว

“แต่โลกกำลังเข้าสู่โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายนอก ที่ไม่ได้ควบคุมโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ การสื่อสารระหว่างประเทศ ที่จะช่วยเชื่อมโยงโลกเข้าไว้ด้วยกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้น โลกในยุคต่อไปจึงต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น”

ขณะที่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน)จะมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โครงสร้างของความยั่งยืน”

ในส่วนนี้ “บรรยง” จะลงรายละเอียดให้เห็นถึงข้อมูล ตัวเลข พร้อมกับแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของแต่ละองค์กรที่จะมาเชื่อมโยงกับแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนให้กับประเทศชาติอย่างเห็นภาพ

ยิ่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยากจน การศึกษาอย่างเท่าเทียม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี และเด็กหญิง รวมถึงเรื่องอื่นๆ

เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า “โครงสร้างของความยั่งยืน” ต่างเกี่ยวข้อง และเกี่ยวเนื่องในหลายมิติ จะแก้เพียงมิติใดมิติหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้

บางครั้งอาจต้องทำคู่ขนานกันไป

แต่การที่จะทำให้ทุกปัญหาดำเนินกันไปอย่างคู่ขนาน จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่างๆ จะต้องมีโครงสร้างของความยั่งยืนแข็งแรงเสียก่อน

คุณบรรยงจะมาขยายภาพในมิติต่างๆ เหล่านี้

สําหรับในส่วนของการเสวนาพิเศษ “รวมใจ-นำไทยยั่งยืน” ที่ไม่เพียงจะมี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน), ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

อันถือเป็นการเสวนาพิเศษที่น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญยิ่ง

เพราะ ฐาปนและศุภชัย ถือเป็นคณะทำงานสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐโดยตรง เพียงแต่หมวกอีกใบหนึ่งของ “ศุภชัย” ที่เพิ่งจะสวมไม่นานคือตำแหน่งประธาน UN Global Compact Local Network ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ผ่านมา

จึงน่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างคณะทำงานของภาคเอกชนที่เข้าไปผลักดันนโยบายต่างๆ ทางด้านกิจกรรมสังคมให้สอดรับกับโครงการสานพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ตามแนวทางของ SDGs ที่ศุภชัยและคณะทำงาน ต้องมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักสากลขององค์การสหประชาชาติอันก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายมิติด้วยกัน

โดยมีบวรนันท์ลงรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพของการรวมใจ-นำไทยยั่งยืนชัดเจนขึ้น เพราะดั่งที่ทราบกลุ่มน้ำตาลมิตรผลให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 4 มิติด้วยกัน

หนึ่ง ครัวเรือนต้นแบบ

สอง องค์ความรู้ชุมชน

สาม องค์กรชุมชน

สี่ เครือข่ายร่วมพัฒนา

ทั้งนั้นเพราะโครงการนี้ดำเนินงานในพื้นที่โรงงานมิตรผล ซึ่งมีมากกว่า 25,500 ครอบครัว ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย 5 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง เศรษฐกิจ สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมสู่การปฏิบัติ เริ่มจากการวิเคราะห์ตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวด้วยการปลูกอยู่ ปลูกกินแบบอินทรีย์ การวางแผนการผลิต และการทำบัญชีครัวเรือน

สอง สังคม พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาแบบองค์รวมในชุมชน โดยใช้กระบวนการให้ความรู้ และสร้างการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรอบรมต่างๆ

สาม สุขภาวะ สร้างให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีผ่านกิจกรรมด้านสุขภาวะ

สี่ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี และเกิดการจัดการทรัพยากรชุมชน

ห้า จิตใจ ส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่อบอุ่น รวมถึงมี การวางแผนชีวิต มีจิตสาธารณะ สำนึกรักท้องถิ่น และมีจริยธรรมในการดำเนินชีวิต

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ “บวรนันท์” จะขยายทีละภาพให้ฟัง พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีศึกษาในเรื่องของการแก้หนี้ของพนักงานในโรงงาน จนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาที่ แทบจะหมดหวัง กลับมีกำลังใจทำงานอย่างเต็มกำลังในทุกวันนี้

ถามว่าเขาทำอย่างไร ?

วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2560 มีคำตอบ

ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจฟอรั่ม CSR 360 องศา รวมใจ-นำไทยยั่งยืน ระหว่างเวลา 08.30-12.30 น.

ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หมายเหตุ-ผู้ใดสนใจอยากเข้าร่วมรับฟังสัมมนา ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.prachachat.net

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน