ชาวอยุธยารวมพลังต้าน รุก‘โบราณสถาน’สร้างโรงเลื่อย – “ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา เลอคุณค่ามรดกโลก” เป็นคำขวัญของ จ.พระนครศรี อยุธยา

ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของแผ่นดินสยาม ที่นี่มีความสำคัญในหลากหลายมิติ เป็นแหล่งโบราณสถานที่มีอายุเกือบ 700 ปี โดยในปี 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหลายแห่งในเกาะรอบเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ รวม 69 แห่ง ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต่างมาชมวัดวาอารามและสิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยา

สถูปเจดีย์เก่าวัดสิงห์นารายณ์

 

ทว่าหลายปีมานี้มีผู้ประกอบการบางรายเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินวัดร้าง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ชาวอยุธยาและชาวไทยหวงแหน และต้องการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจาก รศ.วิชิต เกรียงยะกุล ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงสมณโกฏ จำกัด ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา ว่า เท่าที่ทราบมีวัดร้าง 4 แห่ง ที่มีเอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้งที่เป็นเขตโบราณสถาน คือ

1. วัดไชยชุมพล เนื้อที่ 4 ไร่

2. วัดสิงห์นารายณ์ เนื้อที่ 26 ไร่

3.วัดยักษ์ เนื้อที่ 2 ไร่

และ 4.วัดลายสอ เนื้อที่ 20 กว่าไร่

กองไม้ในเขตวัดลายสอ

ที่ผ่านมาสมาชิกชมรมอโยธยาสามัคคี, สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงสมณโกฏ ,ชาวหันตราและชาวอโยธยานับร้อยคน ได้รวมตัวเรียกร้องไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563 แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งก่อสร้างต่างๆ ยังอยู่ในเขตโบราณสถานเหมือนเดิม น่าจะมีอะไร ไม่ชอบมาพากล

โรงเลื่อยในวัดยักษ์ที่ยังไม่รื้อถอน

รศ.วิชิตเล่าว่า ในส่วนวัดร้างไชยชุมพลนั้น ผู้เช่าแจ้งว่าจะทำการเกษตร แต่ทุกวันนี้ถมดินสูง 2-3 เมตร และกั้นรั้วมิดชิด ไม่เห็นปลูกพืชอะไรเลย และก่อนหน้านั้นชาวบ้านหลายคนเห็นว่าเจดีย์และสิ่งก่อสร้างถูกขุดทิ้งฝังกลบหมด กระทั่งสำนักศิลปากรที่ 3 สั่งให้นำดินออกเหมือนเดิม และผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งให้ยกเลิกสัญญาเช่า แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

“พวกเราเข้าไปร้องเรียนหน่วยราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา สำนักพุทธศาสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนฯ ซึ่งนายจารึก ศรีอ่อน รองประธานกรรมาธิการ ระบุว่า ผิดทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า เพราะเป็นเขตโบราณสถานไม่สามารถให้เช่าทำอะไรได้ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ผมไม่เข้าใจว่าทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานล่าช้า ไม่กระตือรือร้นที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ พวกผมเสียดายโบราณสถานที่ต้องถูกทำลาย ไปเรื่อยๆ”

คณะรศ.วิชิต เกรียงยะกุล ชี้ให้ดูพื้นที่วัดไชยชุมพลที่สร้างรั้วกั้น

รศ.วิชิตกล่าวด้วยว่า เมื่อต้นปี 2562 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้จตรวจการแผ่นดิน โดยชี้แจงตอนหนึ่งว่า สัญญาเช่าวัดลายสอ (ร้าง) ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับนายโชติ หรือชินโชติ เจียมเจิด หรือพิฑูรเวชพันธุ์ (ผู้เช่า) ซึ่งเป็นบริเวณที่โรงงานไม้แปรรูปตั้งอยู่ ระบุเช่าไว้เพื่อปลูกบ้านพักอาศัยและทำสวนเกษตร มิใช่เพื่อประกอบกิจการโรงงาน

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์

ดังนั้น เพื่อให้การเช่าประกอบกิจการไม่ขัดกับวัตถุประสงค์แห่งสัญญา จึงขอให้สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งให้ผู้เช่าเปลี่ยนวัตถุประสงค์แห่งการเช่าให้ถูกต้องตามลักษณะการเช่าในปัจจุบัน ตนจึงได้ทำหนังสือแย้งไปว่าไม่สามารถเปลี่ยนวัตถุประสงค์การเช่าได้ เพราะเป็นเขตโบราณสถาน อีกทั้งเป็น โรงเลื่อยเถื่อนอีกด้วย

นอกจากนี้พล.อ.วิทวัสยังระบุให้ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะผู้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาล ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำแนะนำของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย

โรงเลื่อยเขตวัดลายสอ

ด้านนายโสธร พิทยานรเศรษฐ์ อายุ 81 ปี ชาวบ้านรายหนึ่งที่อยู่ใกล้วัดยักษ์ บอกว่า วัดร้างแห่งนี้นายโชติ เจียมเจิด เช่าตั้งแต่ ปี 2522 สร้างโรงงานไม้แปรรูปครอบบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เหลือโผล่ให้เห็นส่วนบนของเจดีย์เพียงแห่งเดียว นอกนั้นทำลายทิ้งหมด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นชาวบ้านในชุมชนชัยมงคลร่วมใจเข้ามากราบไหว้สักการบูชาเจดีย์มาตลอด ชาวบ้านเพิ่งรู้เรื่องการเช่าตอนก่อสร้างโรงเลื่อย

จากนั้นเข้าไปร้องเรียนยังวัดใหญ่ชัยมงคลผู้ให้เช่า และสำนักศิลปากรที่ 3 พระนคร ศรีอยุธยา กระทั่งปี 2528 ทางวัดบอกเลิกสัญญากับผู้เช่า และให้โรงงานแปรรูปไม้รื้อสิ่งก่อสร้างออกไป แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด แค่รื้อในส่วนที่มีเจดีย์ตั้งอยู่เท่านั้น

“ผมอายุ 81 ปีแล้ว และชาวบ้านแถวนี้ก็อยากได้โบราณสถานแห่งนี้คืนมา อยากถามว่ากรรมการของวัดใหญ่ชัยมงคลมีอะไรกับผู้เช่าหรือเปล่า ทำไมถึงไม่รื้อถอนเสียที เพราะบริเวณนี้ติดกับถนนใหญ่การมีโรงเลื่อยที่มุงสังกะสีเป็นภาพที่ไม่สวยงามเลย ควรจะรื้อออกและทำเป็นสวนสาธารณะ หรือปรับพื้นที่เพื่อให้เดินไปยังวัดใหญ่ชัยมงคลได้สะดวก”

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการดูแลอนุรักษ์โบราณสถานเขตวัดร้าง จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในจ.พระนครศรีอยุธยาจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และทำตามคำแนะนำของประธานผู้ตรวจการ แผ่นดินหรือไม่

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน