“ปฤษณา กองวงค์”

มูลนิธิสืบสานล้านนา ร่วมกับ โครงการ Spark U Chiang Mai : ปลุก ใจ๋ เมือง จัดกิจกรรมเล็กๆ แต่งดงาม โครงการ “กิ่งกะหล่าน้อย” โดย พ่อครูส่างคำ จางยอด ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เมื่อเร็วๆ นี้

“ดีใจที่กลุ่มเยาวชนไต (ไทใหญ่) อาสาเผยแพร่ศิลปะพี่น้องไตที่งดงามเหล่านี้ เป็นความงดงามที่มีคุณค่า มีความหมาย แม้จะอยู่ในสภาพที่ลำบากแต่เรามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในใจ เรามีศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า อยากให้ร่วมกันรักษา สืบสานศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ไว้” คำกล่าวจากใจของ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนา

ขณะที่ พ่อครูส่างคำ จางยอด วัย 50 ปี ชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ทำหน้าที่ครูภูมิปัญญาที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนามากว่า 10 ปี เผยว่า “ความภูมิใจของครูคนหนึ่งคือได้สอน ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดงของใครก็ตาม ก็หวังว่าวิชาที่เราสอนจะติดตามตัวเขาไปไม่ว่าจะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใด”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พ่อครูส่างคำเน้นสอนเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ทั้งยังชำนาญการฟ้อนนก-ฟ้อนโต คว้าแชมป์ฟ้อนนกกิ่งกะหล่า 3 ปีซ้อน ในปี 2540-2543 และแชมป์ตีกลองปูเจ่ ปี 2538 ที่จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมกับมีฝีมือด้านตีกลองล้านนา ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง

สำหรับโครงการกิ่งกะหล่าน้อยในครั้งนี้ เด็กๆ เริ่มอบรมและฝึกซ้อมกันในช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีเยาวชนที่สนใจร่วมหัดบินกิ่งกะหล่า รวม 36 คน มีทั้งพี่ตัวโตจนถึงน้องน้อยตัวเล็กสุดอายุ 7 ขวบ เด็กๆ ส่วนหนึ่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่

“ผมเล่าให้เขาฟังว่าการฟ้อนนกกิ่งกะหล่าเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนาและศิลปะการแสดงในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระมารดา ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ในวันออกพรรษา จะมีเทพยดารวมถึงสัตว์ต่างๆ จากป่าหิมพานต์ พากันรอรับและฟ้อนรำแสดงความยินดีในการเสด็จกลับมาของพระพุทธองค์ โตและนกก็เป็นหนึ่งในนั้น เรามีความเชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เราต้องทำให้เด็กเกิดความชำนาญ มีศรัทธาและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ กิจกรรม ครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการสอนฟ้อนสอนรำ แต่เป็นการถ่ายทอด ส่งต่อความทรงจำและตัวตนของคนไทใหญ่จากรุ่นผมไปถึงลูกหลานอันเป็นที่รักของเรา” พ่อครูส่างคำสะท้อนความรู้สึก ทั้งยังกล่าวว่า สำหรับชาวไทใหญ่แล้วควรเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองว่าเราเป็นใคร บรรพบุรุษมาจากไหน ประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร และตนเองไม่ได้สอนเฉพาะชาวไทใหญ่ แต่สอนเยาวชนทุกคน

หลายคนคงจะได้เห็นนกและโตจากขบวนแห่ในงานบุญต่างๆ ไม่ว่างานออกพรรษา ปอยหลวง ปอยส่างลอง ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมกลุ่มชาติ พันธุ์ไต (ไทใหญ่)

ภายในงานครั้งนี้ สนุกสดใสไปด้วยชุดเครื่องแต่งกายหลากสีสัน สวยงามสะดุดตา เด็กๆ ช่วยกันแต่งตัว ติดปีกไม้ใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมาก ผูกเข้ากับตัวให้แน่นหนา เมื่อทุกอย่างพร้อม เสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ ตีประโคมให้จังหวะ ก็ถึงเวลาที่กิ่งกะหล่าน้อยเริ่มออกบิน อวดสายตาผู้ชมให้ได้ชื่นใจ ทั้งท่าเริ่มต้น ท่าไหว้ครู จังหวะการย่าง การเดิน การกระโดด พร้อมรอยแย้มยิ้ม

การแสดงแบ่งเป็น 3 ชุด เริ่มจากพี่ใหญ่จนถึงน้องเล็ก และปิดท้ายด้วยการรำวงมาตรฐานแบบไทใหญ่ ที่เรียกว่า “ก่าปั่นก๋อง”ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยนัก

ด.ญ.กนกพร ปุ้น หรือ หมวยคำ อายุ 14 ปี ชั้นม.1 จากโรงเรียนหนองโค้ง บอกว่า “มีความสุขมากเลยค่ะ ได้มีโอกาสแสดงศิลปะของไทใหญ่ ฟ้อนกิ่งกะหล่าเป็นการเลียนแบบท่าทางของนก สัตว์หิมพานต์ ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ครูใจดี ไม่ดุ แต่จะบอกให้หมั่นฝึก ตั้งใจฟังเวลาครูสอน อย่าเล่นกัน เพราะพวกเรามีโอกาสน้อยที่จะได้มาเรียน”

ด้าน ด.ญ.ทิพย์ ลิน อายุ 13 ปี เพื่อนน้องหมวยคำ เสริมว่า “ดีใจที่ได้มาเรียน ถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนอย่างอื่นอีก เช่น ตีกลอง ฟ้อนก๋ายลาย พ่อแม่สนับสนุน ความรู้ที่ได้มันติดตัวเรา ถ้าเราแสดงได้ ทำได้ดี จะมีค่าขนมไว้เป็นทุนการศึกษาด้วยค่ะ”

มาที่ ด.ญ.ธิดา วันดี อายุ 14 ปี ชั้นม.2 โรงเรียนสันทรายหลวง เล่าว่า วันนี้ฟ้อนนกและรำวงมาตรฐาน หรือ ก่าปั่นก๋อง มีความสุขมาก ได้ใส่ปีกนกและแสดงต่อหน้าผู้คน ทั้งนกและโตจะพบเห็นในงานมงคล งานบวช วันสำคัญทางศาสนา หนูภูมิใจในวัฒนธรรมของเราที่ไม่เหมือนใคร

ปิดท้ายที่ ดา น.ส.จิตรลดา สุริยวงค์ อายุ 16 ปี เพื่อนๆ ไทใหญ่เรียกว่า “ต๋ามน” นักศึกษาชั้นปี 2 สาขาการโรงแรม แผนกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เผยความรู้สึกว่า ภูมิใจและมีความสุข ที่ผ่านมาเคยเห็นแต่เขาฟ้อนนก ก็อยากลองบ้าง พอมีโครงการจึงเป็นโอกาสที่ดีของลูกหลานชาวไทใหญ่ที่ได้สัมผัส

“เซอใจ๋…เฮากานกกิ่งกะหล่าฮางหลี – ภูมิใจ เราก็รำนกกิ่งกะหล่าสวย” น้องดากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน