สำรวจตัวเอง ด่วน! โรคขี้เสียดาย ไม่ยอมทิ้ง ปล่อยของเน่าเต็มบ้าน หลายๆบ้านคงมีปัญหากับผู้ใหญ่ในบ้าน ที่ชอบสะสมของเก่าๆไว้ แม้ของบางชิ้นจะไม่สามารถใช้ได้แล้วก็ตาม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคสะสมสิ่งของก็เป็นได้

Hoarding Disorder

จากกรณีของ ป้าปู ที่โดนเพื่อนบ้านร้องเรียนว่า ป้าปูมีพฤติกรรมเก็บขยะเก่าจนล้นเต็มบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นออกมารบกวนเพื่อนระแวกบ้านเสมอๆ โดยป้าปูมีพฤติกรรมแบบนี้มาประมาณ 8 ปีแล้ว ซึ่งหลังจากที่ป้าปูได้เป็นข่าวไป เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาทำความสะอาด และทำการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคภายในบ้านเป็นที่เรียบร้อย แต่ทว่าดูเหมือนป้าปูจะเข้าข่ายโรคชอบสะสมสิ่งของเข้าซะแล้ว

โรคเก็บสะสมของ คืออะไร?

โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder เป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งที่ถือว่าเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งวินิจฉัยไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 นี้เอง ซึ่งก็ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยอย่างทางการ ผู้คนจึงนิยมเรียกกันว่า โรคชอบเก็บสะสม โรคขี้เสียดาย เป็นต้น

โรคสะสมของ จะพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ทว่าจริงๆแล้วโรคสะสมของนั้นเป็นโรคที่สะสมอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสืบต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะเริ่มมีผลข้างเคียงของโรคสมองเสื่อมเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจลดลง และยังพบอีกว่ากว่า 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติที่มีพฤติกรรมชอบสะสมของเช่นเดียวกัน

สิ่งของที่พบได้บ่อย

นักสะสมส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะสะสมสิ่งของดังต่อไปนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ถุงพลาสติก เสื้อผ้า ขวดน้ำ ในบางท่านอาจสะสมถึงขั้น ขยะ เศษอาหาร ซึ่งของเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย

สำรวจตัวเองด่วน! 5 สัญญาณบ่งบอกว่าเข้าค่ายโรคสะสมของเข้าซะแล้ว

  1. เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นเอามาไว้ในบ้าน และยังเอามาเพิ่มเรื่อยๆทั้งที่ไม่มีที่เก็บ
  2. ไม่สามารถตัดสินใจที่จะทิ้งของได้ หรือรู้สึกลำบากใจที่จะทิ้ง แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่จำเป็นและไม่มีค่าก็ตาม
  3. รู้สึกหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจเมื่อต้องทำการทิ้งของ มีความคิดและการกระทำที่หมกมุ่น เช่น กลัวว่าถ้าทิ้งสิ่งใดไปแล้ว ในอนาคตจะไม่มีใช้ เมื่อเผลอทิ้งสิ่งใดไปก็จะรีบไปเช็กดูที่ถังขยะแล้วเอากลับคืนมาทันที
  4. ไม่ไว้ใจ หวาดระแวงคนอื่นจะมายุ่งกับสมบัติของตน
  5. ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ เช่น แยกตัวออกจากสังคม, มีปัญหากับคนภายในครอบครัว เรื่องการจัดเก็บสิ่งของ

วิธีรักษา

โรคสะสมของนั้น เรียกได้ว่าเป็นโรคทางจิตเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถเยียวยาได้ โดยมีวิธีรักษาอยู่ด้วยกัน 2 วิธี นั่นก็คือ

1. ใช้ยาต้านเศร้า จะช่วยลดปัญหาความตึงเครียดและลดความต้องการหรือหมกมุ่นในการสะสมได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็สามารถใช้ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

2. พฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลและเป็นที่นิยมพอสมควร เป็นวิธีที่มุ่งเน้นไปที่ภายใต้จิตใจของผู้ป่วย ให้มีความสามารถด้านตัดสินใจ และการใช้เหตุผล

ขอขอบคุณที่มา drugsquare.co.th

https://psychcentral.com/disorders/hoarding-disorder-symptoms/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน