“น้าชาติ ประชาชื่น”

[email protected]

ดอกเข้าพรรษาคือดอกอะไร

แมงดำ

ตอบ แมงดำ

“ดอกเข้าพรรษา” นั้นหรือคือไม้ที่เรียกกันทั่วไปว่า “หงส์เหิน”

ตำนานเล่าว่า ครั้งสมัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้นาม สุมนะ ทุกเช้าจะนำดอกมะลิ 8 ทะนานไปถวาย พระเจ้าพิมพิสาร โดยจะได้ทรัพย์เป็นค่าดอกไม้วันละ 8 กหาปณะ วันหนึ่งขณะจะนำดอกไม้ไปถวายพระราชา เป็นช่วงเวลาพระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะ เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามากอยากจะถวายดอกมะลิทั้ง 8 ทะนานเป็นพุทธบูชา

สุมนะคิดว่า “ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้ในวันนี้ เราอาจถูกประหาร หรือถูกเนรเทศ แต่ถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เราด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้ แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”








Advertisement

คิดแล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต เขาโปรยดอกไม้ทั้ง 8 ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้นสิ่งอัศจรรย์บังเกิดขึ้น ดอกมะลิทั้ง 8 ทะนานไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ 2 ทะนาน กลายเป็นเพดานดอกไม้แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก 2 ทะนานแผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ 2 ทะนานอยู่ข้างซ้าย ส่วนอีก 2 ทะนานอยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืนกำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน

สุมนะเกิดความปีติปราโมทย์ยิ่ง และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่อง ก็ทรงชื่นชมและปูนบำเหน็จรางวัล ทำให้นายมาลาการสุมนะมีชีวิตสุขสบายขึ้น และคือที่มาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวาระเข้าพรรษา

โดยเฉพาะที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ประเพณีตักบาตรดอกไม้นับเป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในดอกไม้ที่นิยมใช้ในการนี้ คือ “ดอกเข้าพรรษา” หรือท้องถิ่นอื่นๆ เรียกว่า “หงส์เหิน” ตามรูปร่างของดอกและเกสรที่ดูเหมือนตัวหงส์กำลังจะบินในลีลาสง่างาม ทั้งมีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก ไม้เดียวกันนี้ยังมีชื่อเรียกว่า กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี กระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย)

ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชวงศ์ขิง ในสกุล Globba sp. พืชในสกุลนี้แต่ละชนิดจะมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสันสวยงาม ตั้งแต่ขาว ชมพู ม่วง เหลือง ดอกจะบานในช่วงพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้จำนวน 40 ชนิด ชนิดที่นิยมนำมาตักบาตรเข้าพรรษาคือชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Globba winitii C.H.Wright. ซึ่งตั้งเป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร (พระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ) บิดาวงการพฤกษศาสตร์ไทย)

ดอกเข้าพรรษามีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นไม้พื้นล่างที่พบตามป่าโปร่งทั่วไป มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำเรียงอยู่รอบหัว ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินคือส่วนของกาบใบที่อัดกันแน่นทำหน้าที่เป็นต้นเทียม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียวยาว รูปใบหอกออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน ดอกเป็นช่อแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อจะโค้งและห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ

ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอกมีสีเหลืองสดใส ลักษณะคล้ายรูปตัวหงส์ยืนกำลังจะเหินบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับที่แตกต่างกันหลายรูปทรงและหลายสี ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 ซ.ม.

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติมว่า ดอกเข้าพรรษาชอบขึ้นตามไหล่ภูเขาโพธิลังกา หรือเขาสุพรรณบรรพต เทือกเขาวง และภูเขาในเขตอำเภอพระพุทธบาท และที่น่าแปลกคือการผลิดอก ถ้ามิใช่เป็นฤดูกาลเข้าพรรษาแล้ว จะไม่ผลิดอกออกมาให้เห็นเลย ชาวบ้านจึงเรียกว่า ต้นเข้าพรรษา และดอกเข้าพรรษา โดยจะผลิดอกงอกใบออกมารับน้ำฝนก็ในฤดูกาลเข้าพรรษาของทุกๆ ปี

ชาวอำเภอพระพุทธบาทนิยมชมชอบที่จะเอาดอกเข้าพรรษาตักบาตรดอกไม้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันเข้าพรรษา ณ ลานวัดพระพุทธบาท เมื่อพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตแล้วจะนำไปเป็นเครื่องสักการะวันทารอยพระพุทธบาทในพระมณฑป แล้วนำออกไปวันทาพระเจดีย์จุฬามณีที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งไปสักการะพระองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก่อนนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน