น้าชาติ ประชาชื่้น

[email protected]

วานนี้ (18 ก.ย.) “พิมพ์ดาว” ถามมาว่า ทำไมจึงเรียกภาพยนตร์ว่า หนัง และที่มาของคำว่าภาพยนตร์ ใครเป็นคนเรียก คำตอบนำมาจากข้อเขียนของ โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในบทความชื่อ หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ในประเทศไทย เมื่อวานไขข้อข้องใจเรื่องคำ “หนัง” ที่คนไทยใช้เรียกภาพยนตร์ไปแล้ว วันนี้เผยที่มาของศัพท์ “ภาพยนตร์” และการฉายหนังในสยาม

โดม สุขวงศ์ เขียนไว้ว่า ในเวลานั้น (ช่วงที่ชาวญี่ปุ่นตั้งโรงหนังถาวรในสยาม-น้าชาติ) ได้มีการใช้คำศัพท์อีกคำหนึ่งเรียกหนังฝรั่ง คือคำว่า “ภาพพยนต์” หรือ “รูปพยนต์” ซึ่งเป็นคำเก่าในภาษาไทย ใช้เรียกสิ่งที่ปลุกเสกให้มีชีวิต เช่นหุ่นที่กระดุกกระดิกได้เหมือนมีชีวิต ก็เรียกว่า หุ่นพยนต์

คำว่า ภาพพยนต์ ได้รับความนิยมใช้เรียกมหรสพอย่างใหม่นี้คู่กันกับคำว่า หนังฝรั่ง หรือหนังญี่ปุ่น ซึ่งที่สุดก็เรียกสั้นๆ ว่า หนัง และ ภาพพยนต์ ก็เขียนกลายเป็นภาพยนตร์

ความสำเร็จของโรงหนังญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างให้นักธุรกิจชาวสยามคิดตั้งกิจการโรงหนังขึ้นบ้างและในปี ต่อมาก็มีผู้ตั้ง โรงหนังทีละโรงสองโรง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอย่างง่ายๆ ราคาถูก คือเป็นโรงอย่างโกดังสินค้า สร้างโครงด้วยไม้ ผนังและหลังคาเป็นสังกะสี

ในเวลาสี่ห้าปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5 ชาวสยามในกรุงเทพฯ จึงเริ่มพัฒนานิสัยของกิจกรรมการออกไปดูหนังที่โรงหนังในละแวกบ้านในตอนค่ำและกลับมานอนเมื่อหนังเลิกในตอนดึก อันกลายเป็นกิจกรรมทางสังคมของชาวเมืองต่างๆ ทั่วโลกในระยะต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

หนังที่โรงหนังต่างๆ นำมาจัดฉายในเวลานั้น กล่าวได้ว่ามีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทั่วโลก เพราะตลาดหนังกำลังเติบโตและเปิดกว้าง แต่ต่อมากิจการสร้างหนังของฝรั่งเศสได้ขยายตัวขึ้นจนครองตลาดหนังส่วนใหญ่

และหนังที่สร้างกันในเวลานั้นได้พัฒนาจากการถ่ายม้วนสั้นๆ ม้วนละราว 1 นาที ไม่มีการตัดต่อ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์สำคัญทางสังคมหรือบ้านเมือง หรือการแสดงเบ็ดเตล็ดสิ่งละอันพันละน้อย ไปเป็นการถ่ายทำที่มีการตัดต่อ เป็นหนังม้วนยาวขึ้น กินเวลาฉายม้วนละราว 10 นาที มีทั้งหนังที่ถ่ายบันทึกเหตุการณ์อย่างหนังข่าว หนังที่บันทึกภาพสถานที่อย่างการนำเที่ยว หนังที่จัดฉากแสดงอย่างละคร และต่อมาเริ่มมีการทำหนังเรื่องที่ยาวขึ้นหลายๆ ม้วนจบ

รายการฉายคืนหนึ่งๆ โรงหนังจะจัดฉายหนังเหล่านี้ราว 10-15 ม้วน และเนื่องจากหนังยังไม่มีเสียง โรงหนังแต่ละโรงจะจัดให้มีวงดนตรีบรรเลงเพลงประกอบขณะฉายหนัง ช่วงแรกๆ เข้าใจว่าเป็นวงเครื่องสายผสมอย่างฝรั่ง แต่ต่อๆ มาเมื่อมีโรงหนังเกิดมากขึ้นหลายโรง คงจะหาวงดนตรียาก อาจจะใช้การเล่นเปียโนหรือออร์แกนประกอบ และบางโรงก็ใช้วงแตรหรือที่เรียกว่าแตรวงของชาวสยาม ซึ่งดัดแปลงจากวงโยธวาทิตของทหาร มีแตรและปี่เป็นหลัก มีกลองกับฉาบให้จังหวะ เป็นวงดนตรีท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในสยามและเป็นที่นิยมไปทั่ว โดยใช้บรรเลงประโคมและแห่ประกอบงานพิธีต่างๆ เช่น งานบวชนาค งานศพ งานทอดกฐิน

การฉายหนังจะฉายทีละม้วน เมื่อจบม้วนโรงหนังจะเปิดไฟฟ้าสว่าง พนักงานฉายจะเปลี่ยนหนังม้วนต่อไปเข้าเครื่องฉาย ระหว่างนี้ในโรงหนังจะมีพนักงานขายเครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม ของขบเคี้ยว เช่น ถั่วต้ม อ้อยควั่น และของประกอบ เช่น พัด หมาก ยาดม บุหรี่ เป็นต้น เมื่อได้เวลาพนักงานฉายจะตีระฆังให้สัญญาณ ปิดไฟฉายหนังม้วนต่อไป เป็นเช่นนี้ไปทีละม้วนจนจบรายการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน