มูลนิธิสวัสดิภาพเด็กไต้หวัน ทำสำรวจ พบนร.เกือบครึ่งของไต้หวัน เคยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งออนไลน์ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาฯยกเป็นวาระสำคัญที่ต้องแก้ไข

Taipei Times

การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องที่ปกติ แต่เป็นพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจโดยเจาะจงบุคคลเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การแก้ไขปัญหานี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2563 สำนักข่าว ไทเป ไทมส์ รายงานว่า จากการศึกษาทางสถิติของ มูลนิธิสวัสดิภาพเด็กแห่งไต้หวัน ระบุว่า ผู้เรียนเกือบครึ่งของไต้หวัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต โดยในปีนี้ พบว่ามีค่าทางสถิติที่สูงกว่าในปี พ.ศ. 2559 เกือบ 2 เท่า

ขณะเดียวกัน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขข้อบังคับ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการกลั่นแกล้งในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางออนไลน์ ไว้ในวาระของระเบียบดังกล่าว

มูลนิธิฯ ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวบ่งชี้ว่าการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสถานศึกษา

โดยจากการสำรวจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตในนักเรียน พบว่า ผู้เรียนร้อยละ 47 ระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต โดยร้อยละ 10.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการเป็นผู้กลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต และ ร้อยละ 18.1 ระบุว่าพวกเขาเคยเป็นผู้ถูกแกล้ง ในขณะที่ร้อยละ 18.2 ระบุว่าพวกเขาเป็นทั้งผู้แกล้งและผู้ถูกแกล้ง

โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 59.2 ระบุว่า พวกเขากังวลว่าจะถูกรังแกหรือโจมตีทางอินเตอร์เน็ต จากการสำรวจที่คล้ายกันเมื่อ 4 ปีก่อนแสดงให้เห็นว่ามีผู้เรียนเพียงร้อยละ 22.2 เท่านั้น ที่รายงานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ มูลนิธิได้เปิดเผยว่า มีการพบว่านักเรียนร้อยละ 21.3 ระบุว่า “การกลั่นแกล้งบนอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเติบโตขึ้น”

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต โดยรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดคือ การถูกเยาะเย้ยในเกมที่เล่นในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งพบอยู่ที่ร้อยละ 94.4 ตามมาด้วย ร้อยละ 61 ที่ระบุว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาถูกแชร์ต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพวกเขา และร้อยละ 49.9 ระบุว่าพวกเขาได้รับข้อความที่มุ่งร้ายและหยาบคาย

โดยผลกระทบที่พบบ่อยที่สุดจากการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ตต่อผู้เรียนคือรู้สึกหดหู่ ร้อยละ 31.2 และ นักเรียนร้อยละ 24 ระบุว่าพวกเขารู้สึกกังวลหรือประหม่าเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และ ร้อยละ 12.4 ระบุว่า พวกเขามีปัญหาในการนอนหลับเนื่องจากการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต
ผู้เรียนประมาณร้อยละ 10 ระบุว่า พวกเขาเลิกใช้โซเชียลมีเดียหลังจากถูกรังแกทางออนไลน์ และร้อยละ 7.9 ระบุว่าพวกเขามีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง และร้อยละ 7.6 ระบุว่าพวกเขามีความคิดฆ่าตัวตาย

การสำรวจพบว่าผู้เรียนร้อยละ 62.8 ระบุว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งด้วยตนเอง และร้อยละ 62.7 ระบุว่าจะพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้น ผู้เรียนประมาณร้อยละ 28 ระบุว่าพวกเขาจะเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ของพวกเขาฟัง และ ร้อยละ 13.6 ระบุว่าพวกเขาจะพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “เพื่อนทางอินเตอร์เน็ต” และร้อยละ 13.5 ระบุว่าพวกเขาจะบอกครูหรืออาจารย์

การสำรวจนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 11 มิ.ย.2563 ถึง 9 ก.ค.2563 โดยได้รวบรวมการตอบแบบสอบถามเป็นจำนวน 1,589 คน จากนักเรียนชั้นมัธยมต้น-มัธยมปลาย และ อาชีวศึกษา ที่ระดับความเชื่อมั่นทางสถิติ ร้อยละ 95 และมีค่าความคลาดเคลื่อนที่ร้อยละ 2.46

ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวอ่านต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน