คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ช้างเผือกกับช้างต้น ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรคะน้าชาติ ทำการบ้านให้น้อง

พี่สาวที่แสนดี

ตอบ พี่สาวฯ

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ช้างต้น บอกว่า ช้างต้นหมายถึงช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณได้แบ่งช้างต้นออกเป็น 3 ประเภท

1.ช้างศึกที่ทรงออกรบ

2.ช้างสำคัญซึ่งมีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน

3.ช้างเผือกซึ่งมีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การศึกที่ต้องใช้กองทัพช้างในการสงครามหมดความสำคัญลง ช้างศึกที่ควรขึ้นระวางเป็นช้างต้นก็ไม่มีความจำเป็น จึงคงเหลือเพียงช้างต้นที่หมายถึงช้างสำคัญและช้างเผือก ซึ่งหากพบก็จะประกอบพระราชพิธีรับสมโภชและขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น ด้วยถือตามพระราชประเพณีที่ว่า ช้างเผือกนั้นเป็นหนึ่งในรัตนะ 7 สิ่งซึ่งคู่บารมีขององค์พระมหากษัตริย์

รัตนะทั้ง 7 มีชื่อเรียกว่า สัปตรัตนะ อันได้แก่ จักรรัตนะ (จักรแก้ว) หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว) อัศวรัตนะ (ม้าแก้ว) มณีรัตนะ (มณีแก้ว) อัตถีรัตนะ (นางแก้ว) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) และ ปรินายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)

ตามคติความเชื่อทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ที่สูงด้วยมงคลทั้งปวง เป็นสัญลักษณ์ทั้งธัญญาหาร ภักษาหาร ผลาหาร และพระบารมีเกริกไกรอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน และจะเกิดขึ้นด้วยบุญญาบารมีแห่งองค์พระจักรพรรดิแห่งแคว้นประเทศนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อได้พบช้างเผือกเวลาใด ประชาราษฎร์ก็จะแซ่ซ้องสาธุการน้อมเกล้าฯถวาย ด้วยเป็นรัตนะแห่งพระองค์

ตามตำราคชลักษณ์ ช้างเผือกต้องมีลักษณะอันเป็นมงคล 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ผิวหนังสีขาว หรือ สีหม้อใหม่ ขนขาว ขนหางยาว และ อัณฑโกศสีขาว หรือ สีหม้อใหม่

ทั้งนี้ ตำราฯ แบ่งช้างเผือกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ช้างเผือกเอก เรียกว่า สารเศวตร หรือ สารเศวตพรรณ เป็นช้างเผือกที่มีลักษณะถูกต้องสมบูรณ์ตามตำราคชลักษณ์ และมีลักษณะพิเศษคือ ร่างใหญ่ ผิวขาวบริสุทธิ์สีดุจสีสังข์ เป็นช้างมงคลคู่บ้านคู่เมือง

2. ช้างเผือกโท เรียกว่า ปทุมหัตถี มีผิวสีชมพูดูคล้ายสีกลีบดอกบัวแดงแห้ง เป็นช้างมงคลเหมาะแก่การศึก

3. ช้างเผือกตรี เรียกว่า เศวตรคชลักษณ์ มีสีดุจใบตองอ่อนตากแห้ง เป็นช้างมงคล

หากพบช้างสำคัญถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาแต่โบราณที่จะไม่กล่าวว่าช้างนั้นเป็นช้างเผือกและเป็นชั้นเอก โท หรือ ตรี แก่ผู้ใด จนกว่าจะได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียก่อน และจะเรียกว่าช้างสำคัญไปจนกว่าจะได้รับการขึ้นระวางและรับพระราชทานอ้อยแดง จารึกนามแล้ว จึงเรียกว่า ช้างเผือก

ส่วนที่เรียกกันทั่วไปว่าช้างมงคล เล่ากำเนิดว่า จากตำราพระ คชศาสตร์ ได้กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคล และแบ่งช้างมงคลเป็น 4 ตระกูล ตามนามแห่งเทวะผู้ให้กำเนิด คือ

1. ช้างตระกูลพรหมพงศ์ พระพรหม เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่างๆ

2. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ พระอิศวร เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจ

3. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ พระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะแก่ศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหารธัญญาหารจะบริบูรณ์

4. ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ พระอัคนี เป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหารและมีผลในทางระงับศึกอันพึงจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวงอันเกิดแก่บ้านเมือง

แถมข้อมูลสำหรับผู้สนใจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังดุสิต ตรงข้ามพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม และรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 สถานที่นั้นเมื่ออดีตคือโรงช้างต้นเก่าในพระราชวังดุสิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน