เมื่อศัตรูคือ ‘มนุษย์’ แม้อยู่บนเขาสูงก็ไม่รอด ‘พืชสมุนไพร’ จึงวิวัฒนาการตัวเอง เปลี่ยนสีจากสดใสเป็นดำคล้ำ เพื่อเอาชีวิตรอดจากการเก็บเกี่ยว

เป็นเวลาหลายพันปีที่ ต้นฟริทิลลาเรีย เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ บนเนินหินของเทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาเหิงต้วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนที่จะผลิดอกไม้สีเขียวสดในปีที่ห้า แต่ต้นฟริทิลลาเรีย กลับมีศัตรูตัวฉกาจอย่าง “มนุษย์” ที่มักจะเก็บเกี่ยวเอาผลผลิตไปเพื่อทางการแพทย์แผนจีน

ต้นฟริทิลลาเรีย เดลาวาจี เป็นพืชอีกชนิดสำหรับแพทย์แผนจีน ที่นำดอกของพืชสมุนไพรชนิดนี้ มาบดให้เป็นผง เพื่อรักษาอาการไอยอดนิยมมานานกว่า 2,000 ปี ความต้องการดอกฟริทิลลาเรีย นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องใช้ประมาณ 3,500 ดอกในการผลิตเป็นผงในปริมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 480 ดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 บาท เมื่อการเก็บเกี่ยวเชิงพาณิชย์ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ต้นฟริทิลลาเรีย เดลาวาจีจึงค่อยๆ หายไป เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ใบ ดอก และลำต้น เริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล ทำให้ผู้เก็บเกี่ยวไม่สามารถมองเห็นพวกมันได้

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสีของใบของพืชมีการพรางตัวมากขึ้น สภาพของพวกมันตรงกับหินพื้นหลังที่พวกมันเติบโต “เช่นเดียวกับพืชที่มีการพรางตัวอื่น ๆ ที่เราได้ศึกษาเราคิดว่าวิวัฒนาการของการพรางตัวของพืชผักชนิดนี้ได้รับแรงผลักดันจากสัตว์กินพืช แต่เราไม่พบสัตว์ประเภทนี้ในบริเวณนั้น” ดร. หยางหนิว จากสถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิงกล่าว “เราจึงตระหนักได้ว่ามนุษย์อาจเป็นเหตุผล”

ในการศึกษาของสถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิง และมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ได้ร่วมกันวิจัยโดยวัดจากพืชที่พบในพื้นที่ต่างๆ พบว่า พืชในบริเวณที่มีคนเก็บเกี่ยวมาก จะมีการพรางตัวมากกว่าบริเวณอื่น ทั้งยังพบว่า ยิ่งพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวมากเท่าไหร่ สีของดอกจะยิ่งตรงกับสีพื้นมากขึ้นเท่านั้นจากการวัดโดยสเปกโตรมิเตอร์ และการสัมภาษณ์คนในพื้นที่เพื่อประเมินว่าพวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งยังทำการทดลองผ่านทางออนไลน์ว่าผู้คนใช้เวลานานขึ้นที่จะค้นพบพืชที่พรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งบ่งบอกว่าลายพรางสามารถใช้งานได้จริง ทั้งยังบ่งชี้ได้ว่ามนุษย์กำลังผลักดันการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสีใหม่ เนื่องจากพืชที่มีการพรางตัวดีกว่ามีโอกาสรอดสูงกว่า พืชที่ไม่มีการปรับตัวเลย

“เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่ได้เห็นว่ามนุษย์สามารถส่งผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนสีของสิ่งมีชีวิตในป่าได้อย่างไร ไม่เพียงเพื่อการอยู่รอดของเท่านั้น แต่รวมไปวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นด้วย” ศาสตราจารย์มาร์ติน สตีเวนส์ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ กล่าว “พืชหลายชนิดมักจะใช้ลายพราง เพื่อซ่อนตัวจากสัตว์กินพืชที่อาจกินพวกมัน แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าลายพรางพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ด้วยเช่นกัน”

การซ่อนตัวเองจากสายตาของนักล่า อาจเพิ่มความท้าทายบางอย่างให้กับพืช แมลงผสมเกสรอาจพบพืชที่พรางตัวได้ยากขึ้น และการใช้สีเทาหรือน้ำตาลอาจทำให้กิจกรรมการสังเคราะห์แสงลดลง ถึงแม้จะมีผลกระทบในบางเรื่อง แต่ฟริทิลลาเรีย เดลาวาจี ก็ได้แสดงให้เห็นว่าพืชสามารถปรับตัวได้ และพืชมีความอ่อนไหวได้มากกว่าที่เราคิด ขอบคุณที่มา : sciencenews

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน