โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม
เลียง‘ปลากดคัง’ใหญ่สุดในไทย
รายงานพิเศษ
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

นายศุภชัย โชคภรณ์ประเสริฐ อายุ 27 ปี เป็นคนหนุ่มอีกคนที่เข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว “โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม” โดยเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงปลาคังอย่างเต็มตัว ทั้งที่จ.ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรารวม 3,000 ไร่ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ก่อนหน้านี้ก็ช่วยงานของครอบครัวอยู่แล้ว ซึ่งคุณพ่อจะเป็นคนคอยสอนมาตลอด เรียกว่าคลุกคลีกับปลาชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น

ศุภชัย โชคภรณ์ประเสริฐ (ขวา) กับผู้เป็นพ่อและพี่ชาย

ปัจจุบัน “โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม” เลี้ยงปลาในพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ แยกเลี้ยงเฉพาะปลาคัง 2,500 ไร่ และมีปลาเบญจพรรณรวม 500 ไร่ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ อาทิ ในอ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 350 ไร่, ในอ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 750 ไร่ และที่อ.เมืองปราจีนบุรี 1,900 ไร่ ถือเป็นเจ้าใหญ่สุดในประเทศไทยในการเลี้ยงปลาคังก็ว่าได้

สำหรับปลาคัง เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด มีชื่อสามัญว่า Red tail Mystus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mystus ruckioides ชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นยังมีอีกหลายชื่อ เช่น ปลากดแก้ว ปลากดเขี้ยว กดหางแดง กดข้างหม้อ เป็นต้น อยู่ในวงศ์ปลากด (Bagriidae)

นายศุภชัยพูดถึงจุดเด่นของฟาร์มนี้ว่า เน้นเลี้ยงปลาในระบบธรรมชาติ คือเลี้ยงแบบไม่หนาแน่น ไม่มีการตีน้ำ ไม่มีการใช้ยา สามารถเลี้ยงปลาให้เป็นไซซ์ใหญ่ได้ดีกว่าฟาร์มอื่น ทำให้นักธุรกิจเกาหลีเข้ามาดูวิธีการเลี้ยง และระบุว่านี่เป็นการเลี้ยงปลาแบบ ออร์แกนิก เพราะมีการใช้พื้นที่ต่อลูกบาศก์เมตรในน้ำต่อน้ำหนักปลาที่เลี้ยงในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ส่งผลดีต่อปลาที่เลี้ยง ทำให้ปลาไม่มีความเครียด จึงปลอดภัยเรื่องโรค และการขาดออกซิเจน ทำให้ปลามีสุขภาพและลักษณะที่ดี ใกล้เคียงกับปลาธรรมชาติในแม่น้ำ

ส่วนเทคนิคการเลี้ยงปลาคังให้ได้ผลผลิตที่ดีมีหลายปัจจัย อาทิ 1.ความหนาแน่นของปลาเป็นหลัก โดยทางฟาร์มจะทำน้ำหนักปลาสูงสุด 1 ตัน/1 ไร่ 2.ในเรื่องการควบคุมคุณภาพน้ำ การถ่ายน้ำ ซึ่งการเลี้ยงอาหารสดทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย จึงต้องใช้วิธีการถ่ายน้ำเพื่อให้น้ำโปร่งสะอาดอยู่เสมอ 3.การย้ายปลา ซาวปลาออกทีละครึ่ง จะใช้การแยกปลาออกทีละครึ่งในบ่อ เมื่อน้ำหนักปลาเต็มที่ต่อไร่สูงสุดแล้ว เพื่อให้ปลามีจำนวนเบาบางลง มีออกซิเจนมากขึ้นและกินอาหารดีขึ้น เพราะมีความหนาแน่นน้อยลง

4.ตีปลาเพื่อเช็กน้ำหนักและอัตรารอดอยู่สม่ำเสมอ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงอนุบาลลูกปลาจนเป็นปลารุ่นคือ ไซซ์ 5 ขีดขึ้นไป จะตีอวนเช็กไซซ์ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเช็กอัตรารอดของลูกปลาอยู่ตลอด และเป็นการแยกไซซ์ตัวเล็กและตัวใหญ่ไปด้วย เนื่องจากปลาคังเป็นปลากินเนื้อ ตัวที่ใหญ่กว่าสามารถกินตัวที่เล็กกว่าได้ เมื่อได้ไซซ์ 5 ขีดขึ้นไปอัตรารอดจะสูงขึ้นเนื่องจากปลาตัวใหญ่แล้ว จะกินกันเองได้ยากขึ้น

ส่วนการเลี้ยงตั้งแต่ต้นเริ่มแรกใช้อาหารเม็ดโปรตีนสูง บดให้เป็นเนื้อครีมแล้วเลี้ยงในจุดเดียวของบ่อเลี้ยง ให้วันละ 2 มื้อ เช้าเย็น พอเลี้ยงประมาณ 5 เดือน แล้วค่อยๆ ผสมเหยื่อสด เช่น ไส้ไก่ให้กิน เป็นการฝึกให้ปลากินเหยื่อสดโดยค่อยๆ ผสมไป

ปลากดคังผัดกะเพรา

ทั้งนี้ “โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม” มีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้ 50 ตัน/เดือน ไซซ์ปลาที่ตลาดต้องการมากที่สุด คือ ไซซ์ 2-3 ก.ก.ขึ้นไป หรือยิ่งใหญ่ยิ่งดี ซึ่งปลาไซซ์ 2-3 ก.ก. เป็นไซซ์ที่จัดรอบการเลี้ยงได้ง่าย ในตลาดจึงมีไซซ์นี้มาก

ส่วนไซซ์ใหญ่ 4 ก.ก.ขึ้นไป มีรอบการเลี้ยงที่นาน แต่ได้เนื้อเยอะ ส่วนมากตลาดต้องการปลาที่ได้เนื้อเยอะ

สำหรับลูกพันธุ์ซื้อมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ มีที่ กำแพงเพชร นครนายก สุพรรณบุรี แต่ส่วนมากทางฟาร์มซื้อจากกำแพงเพชร ขนาด 1 นิ้ว ราคาตัวละ 1.70 บาท

นายศุภชัยแจกแจงว่า โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม มีจำนวนปลาคังในมือมากที่สุดแล้ว เลี้ยงในพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ พร้อมส่งขาย ทั่วประเทศอย่างทางภาคเหนือ เป็นตลาดร้านอาหาร ไล่ตั้งแต่ จ.นครปฐม ไปจนถึงจ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน ตลาดมีที่ หนองคาย มุกดาหาร ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารริมแม่ น้ำโขง โดยระบุว่าเป็นปลาแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชอบทานอาหารตามริมแม่น้ำ ตามเขื่อน เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นเส้นทางผ่านในการท่องเที่ยว

นับตั้งแต่เขาเข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อดูแลกิจการในฟาร์ม ก็ได้ต่อยอดธุรกิจด้วยการนำปลาคังและปลาอื่นๆ มาแปรรูป ประกอบกับช่วงหลายปีมานี้เศรษฐกิจในบ้านเราไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จึงต้องแปรรูปเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย ทำตลาดให้กว้างขึ้น จากที่เคยแต่ส่งขายตามร้านอาหารใหญ่ๆ อย่างเดียว

ปลากดคังที่แล่แล้ว

นายศุภชัยเล่าว่า เริ่มแปรรูปมาได้ 2 ปีแล้ว โดยนำปลาดิบเข้าไปแล่ที่โรงงานบริษัทศิริคุณ ซีฟูดส์ จำกัด ที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยใช้เทคนิคการแล่ที่มีคุณภาพ สะอาด และได้มาตรฐาน สาเหตุที่แปรรูปเพราะต้องการนำปลากดคังเข้าตลาดผู้บริโภคให้ทั่วถึงมากขึ้นและหาซื้อได้ง่ายขึ้น

หนุ่มรายนี้พูดถึงปัญหาอุปสรรคที่เจอะเจอว่า เป็นเรื่องการตลาดของปลาคังที่ยังค่อนข้างแคบอยู่ เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มคนที่ทานปลาคัง และคนมักคิดว่าปลาคังเป็นปลาที่ราคาสูง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเกษตรกรหันเลี้ยง ปลาคังกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีปลาในตลาดมีมากขึ้น ขณะเดียวกันทางฟาร์มได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง และมีคนรู้จักมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ทำให้ตลาดปลาคังกว้างมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

เนื้อปลาลวกแล้วพร้อมทาน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาปลาคังที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ตีตลาดในไทย มีทั้งจากประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งการนำเข้ามานั้นไม่ได้มีการควบคุมที่ถูกต้อง เป็นการลักลอบนำเข้ามาในราคาถูก แต่คุณภาพไม่ดี เพราะเป็นปลาแช่น้ำแข็งมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และกฎหมายในไทยไม่ได้มีการคุ้มครองลูกพันธุ์ปลาคังของไทยเองที่ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด ทำให้ผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อตลาดปลาคังที่ในประเทศ

สนใจปลาคังของ “โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม” เข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊กบ้านปลาคัง โชคภรณ์ประเสริฐฟาร์ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน