ผลงานวิจัยใหม่โดยวิศวกรจาก University of California – Riverside เผยว่าท่อเหล็กที่ขึ้นสนิมสามารถทำปฏิกิริยากับสารฆ่าเชื้อที่คงเหลือในระบบจ่ายน้ำ จนเกิดสารก่อมะเร็งอย่างเฮกซะวาเลนต์โครเมียมในน้ำดื่ม

โครเมียมเป็นโลหะหนักแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ ไตรวาเลนต์โครเมียม ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและจำเป็นต่อร่างกาย และเฮกซะวาเลนต์ โครเมียม ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้มาจากคนละแหล่งกัน โครเมียมที่ร่างกายต้องการเป็นไตรวาเลนต์โครเมียมเท่านั้น พบมากในอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เป็นธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์เป็นหลัก ร่างกายต้องสารชนิดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ

ในขณะเดียวกันหากได้รับเฮกซะวาเลนต์ โครเมียม ซึ่งพบได้จากสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยโครเมียมชนิดนี้เป็นสารอันตรายที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อยีน เมื่อได้รับสารดังกล่าวเป็นเวลานานจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอด ตับเสียหาย ระบบสืบพันธุ์ ปัญหาด้านพัฒนาการ และโครงสร้างดีเอ็นเอถูกทำลายได้ง่ายมากขึ้น

โครเมียมมักถูกนำมาเคลือบหรือผสม กับโลหะเพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อน และความร้อนได้ดียิ่งขึ้น แต่ด้วยปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่างสามารถเปลี่ยนอะตอมของ ไตรวาเลนต์โครเมียมเป็นรูปแบบเฮกซะวาเลนต์ที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดมะเร็งในเซลล์

ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาเคมีบำบัดน้ำ และพบว่า เฮกซะวาเลนต์โครเมียมบางส่วนที่พบในน้ำดื่มอาจมาจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสารฆ่าเชื้อในน้ำ กับโครเมียมส่วนที่ถูกกัดกร่อนออกมาจากท่อเหล็กอัลลอย

นอกจากนี้จากการศึกษายังได้นำท่อน้ำ 2 ท่อ โดยท่อหนึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปี อีกท่อมีอายุการใช้งาน 70 ปี ก่อนขูดสนิมที่อยู่ในท่อทั้งสอง มาผสมกับกรดไฮโปคลอรัส หรือคลอรีน ที่โรงบำบัดน้ำดื่มเทศบาล และระบบจ่ายน้ำดื่มมักใช้เพื่อฆ่าเชื้อ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือ สารฆ่าเชื้อสามารถเปลี่ยนโครเมียมส่วนที่มาจากท่อเหล็กให้เป็นเฮกซะวาเลนต์โครเมียมที่อันตรายปนเปื้อนในน้ำได้ แต่ที่น่าประหลาดก็คือโครเมียมที่มีสถานะออกซิเดชันศูนย์ที่พบในท่อเหล็กกลับกลายไปอยู่ในรูปแบบของเฮกซะวาเลนต์โครเมียมที่อันตรายเร็วกว่า

“การค้นพบใหม่เหล่านี้เปลี่ยนความคิดแบบเดิมของเราเกี่ยวกับการควบคุมโครเมียมเฮกซะวาเลนต์ในน้ำดื่ม และเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการจัดการและกระจายน้ำดื่ม เพื่อควบคุมสารพิษในน้ำประปา” ผู้วิจัยกล่าว

การวิจัยดังกล่าวจึงออกมาเพื่อเตือนว่าเมื่อวิกฤตน้ำของโลกทวีความรุนแรงขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับน้ำที่ถูกนำมารีไซเคิล และน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว โดยต้องมีการศึกษา และทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของโครเมียม นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำให้ลดการใช้ท่อที่มีโลหะผสมโครเมียมในระดับสูง และใช้สารฆ่าเชื้อที่สามารถมีปฏิกิริยากับโครเมียมให้น้อยลง

ที่มา : phys

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน