ในที่สุดเราก็ได้เดินทางมาถึงวันสุดท้ายของที่ 2563 และอีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ก็จะเข้าสู่ปีฉลูปีใหม่ 2564 อย่างสมบูรณ์ วันนี้ทีมข่าวสดเลยจะมาแนะนำให้ผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นปีใหม่ ด้วยการ “สวดมนต์ข้ามปีที่บ้าน” แบบวิถีพุทธ สืบสาน ต่อยอดวัฒนธรรมอันดีงาม

อานิสงส์การสวดมนต์

การสวดมนต์สามารถสวดได้ทุกวัน ทุกเทศกาล การสวดมนต์เป็นประจำจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่สวดเป็นประจำ อย่างเช่นช่วยเพิ่มสมาธิ ช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จิตใจแจ่มใส กระตือรือร้น รวมทั้งช่วยฟื้นฟูความจำ

นอกจากนั้นผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำจะเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน สงบเย็น ไม่คิดร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น และยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจช่วยให้ลดความเสี่ยงจากอบายมุข อุบัติเหตุ และความชั่วร้ายทั้งปวงอีกด้วย

การเตรียมตัวสวดมนต์ข้ามปี

โดยปกติแล้วการสวดมนต์ข้ามปีที่วัด มักจะสวมชุดนุ่งขาวห่มขาว หรือ แต่งกายให้สุภาพ แต่จากสถานการณ์ปี้นี้ทำให้ต้องสวดอยู่ที่บ้าน ก็สามารถแต่งกายได้ตามสบายส่วนบทสวดมนต์ก็สามารถถือหนังสือ หากใครไม่มีจะถือสมาร์ทโฟนแล้วท่องบทสวดมนต์ก็ย่อมได้

และก่อนสวดมนต์ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมโดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยการยกแขนขึ้นลง เอียงตัวไปทางซ้าย ขวา กำมือ แบมือ หากมีเวลาพักในช่วงสวดมนต์ก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเดินหรือการบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบค้างนิ่งไว้ประมาณ 10-30 วินาที แต่ละท่า ทำอย่างน้อย 4 ครั้ง








Advertisement

บทสวดมนต์ข้ามปี 2564

สำหรับการสวดที่บ้านเราสามารถเริ่มสวดตั้งแต่ประมาณ 23.40 น. หรือจะเลือกเวลาตามที่สะดวกก็ได้ไม่ผิดเช่นกัน บทที่นำมาใช้ในการสวดมนต์นั้น เป็นการนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎในพระไตรปิฎก บ้างก็เป็นพระปริต (บทที่แต่งขึ้นมาในภายหลัง) โดยถือกันว่าบทสวดมนต์นั้นเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆ

ทั้งนี้บทสวดมนต์ข้ามปีนั้นไม่มีกำหนดที่แน่ชัด เพราะขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล โดยทีมข่าวสดได้นำบทสวดมนต์ข้ามปีมาให้ผู้อ่าน 2 แบบ แบ่งได้เป็น แบบย่อ 14 บท และแบบเต็ม 33 บท ซึ่งแต่ละบทมีความหมายโดยย่อดังนี้

1.บทชุมนุมเทวดา เป็นบทที่อัญเชิญเทวดามาร่วมฟังพระปริตร หรือ มาร่วมในพิธี โดยขอให้เทวดามีความสุข ปราศจากทุกข์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์ให้พ้นภัย

2.บทนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นบทที่เริ่มต้นก่อนที่จะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา หรือบทไหว้ครู ถวายความเคารพแด่พระพุทธเจ้า บทนอบน้อมนี้จะกล่าว 3 ครั้ง เพื่อเป็นการทำใจให้แนบสนิทกับพระคุณจริงๆ ไม่โยกโคลงกวัดแกว่งไปได้ง่ายๆ

3.บทไตรสรณคมน์ เป็นบทที่แสดงถึงการยอมรับพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

4.บทนมการสิทธิคาถา แยกเป็นบทสัมพุทเธ เป็นการกล่าวนอบน้อมพระพุทธเจ้า 3,454,192 พระองค์ และด้วยอานุภาพของการนอบน้อมก็ขอให้ภยันตรายทั้งปวงจงพินาศไป

5.บทโย จักขุมา แสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และขอให้มีชัยชนะมีความสำเร็จปราศจากอันตราย

6.บทนโมการอัฏฐกคาถา โดยทั่วไปเรียกว่า นโม 8 บท ว่าด้วย “นโม” การนอบน้อม 8 ครั้ง

7.บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร บทที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดง มีความหมายว่า ทำกงล้อแห่งธรรมให้หมุนไป คือ การนำพระพุทธศาสนาให้แผ่ขยายไปทั่วทุกทิศ

8.บทมงคลสูตร บทที่ว่าด้วยหลักธรรมที่นำความสุข ความเจริญ ซึ่งเรียกว่า มงคลอันสูงสุด 38 ประการ เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติตามจะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ ประสบความสำเร็จในทุกที่

9.บทรตนสูตร บทบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ย่อมเกิดพลังใจในการต่อสู้ ฟันฝ่าเพื่อชัยชนะต่ออุปสรรค ปัญหา ตลอดจนภัยทั้งปวง

10.บทกรณียเมตตสูตร บทที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา พระพุทธเจ้าตรัสมุ่งหมายการแผ่จิตที่เกื้อกูล ปรารถนาดีให้แก่ตนเองและสรรพสัตว์ ไม่มีเวรต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน มีแต่สุข ไร้ทุกข์ ปราศจากความขุ่นเคืองใจ ไร้พยาบาท

11.บทขันธปริตร บทสวดป้องกันพญางู เป็นมนต์ ป้องกันตัว (จากพญางู) เนื่องจาก ขันธ แปลว่า ตัว หรือกาย ในปริตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องเมตตากรุณา

12.บทเมตตานิสังสสุตตปาฐะ บทที่กล่าวถึงอานิสงส์ของเมตตา 11 ประการ คือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ และอมนุษย์ เทวดารักษา ไฟ ยาพิษ ศัตรูไม่กล้ำกราย จิตใจเป็นสมาธิได้เร็ว สีหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย เมื่อยังไม่ถึงนิพพานไปเกิดในพรหมโลก

13.บทโมรปริตร คาถาสำหรับป้องกันตัวทำให้แคล้วคลาดจากภยันตราย และปริตรนี้เป็นการกล่าวถึงการแสดงความนอบน้อม

14.บทจันทปริตตปาฐะ บทที่ประกาศขอให้พระพุทธองค์ เป็นที่พึ่ง ทำให้พ้นภัยจากอสุรินทราหูด้วยพุทธานุภาพ

15.บทสุริยปริตตปาฐะ บทที่ประกาศขอให้พระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ทำให้พันภัยจากอสุรินทราหูด้วยพุทธานุภาพ

16.บทวัฏฏกปริตร บทที่หมายถึงปริตรของนกคุ่ม คือ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกคุ่มได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ระลึกถึงพระธรรมคุณ ตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ไฟป่ามอดดับ

17.บทอนุสสรณปาฐะ หรือบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

18.บทอาฎานาฏิยปริตร เชื่อกันว่าผู้ใดสวดแล้ว บรรดายักษ์และภูตผีปีศาจทั้งหลายจะไม่ทำอันตรายและคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัย

19.บทอังคุลิมาลปริตร บทที่เป็นคำกล่าวของพระองคุลิมาลที่ว่า เมื่อได้เกิดในอริยชาติแล้ว ไม่เคยจงใจฆ่าเลย และด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอให้ผู้ที่อยู่ในครรภ์จงมีแต่ความสวัสดี

20.บทโพชณังคปริตร ว่าด้วยองค์ธรรมที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ มี 7 ประการ คือ 1.สติ ความระลึกได้ 2.ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม 3.วิริยะ ความเพียร 4.ปีติ ความอิ่มเอมใจ 5.ปัสสัทธิ ความสงบใจ 6.สมาธิ ความตั้งใจมั่น และ 7.อุเบกขา ความวางเฉย

21.บทอภยปริตร การขอให้ลางร้าย สิ่งไม่เป็นมงคล บาปเคราะห์ ฝันร้ายพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ ให้เทพยดาได้ให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนา และขอให้อานุภาพของพระพุทธเจ้าปกป้องคุ้มครองรักษา

22.บทสักกัตวา บทที่สรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่ายอดเยี่ยม และขอให้สิ่งไม่ดีมลายสูญไป

23.บทนัตถิ เม ว่าด้วยที่พึ่งอันประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

24.บทยังกิญจิ ว่าด้วยรัตนะหรือสิ่งมีค่าในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

25.บทมงคลจักรวาลใหญ่ บทอานุภาพพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ กำจัดทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวง

26.บทรตนัตตยัปปภาวาภิยาจนคาถา คาถาที่ขอให้อานุภาพของพระรัตนตรัย ขจัดอุปสรรคทั้งปวง ความสวัสดีมีแก่ประเทศไทย และขอให้เทวดาคุ้มครองรักษา

27.บทสุขาภิยาจนคาถา ขอให้อานุภาพของพระปริตร เกิดความสุขสวัสดิ์ เทวดาคุ้มครอง ฝนตกต้องตามฤดูกาล อาณาประชาราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุข

28.บทเทวตาอุยโยชนคาถา ว่าด้วยการขอให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ และเหล่าเทวดาที่มาร่วมอนุโมทนาบุญ ขอให้กลับไป

29.บทพุทธชัยมงคลคาถา หรือบทถวายพรพระ ว่าด้วยชัยชนะ 8 ประการอันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า

30.บทชยปริตร บทที่สวดเพื่อให้เกิดชัยมงคล

31.บทภวตุ สัพพมังคลัง บทที่อ้างอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย เพื่อให้เกิดสรรพมงคล เทวดาคุ้มครองรักษา

32.บทนักขัตตยักข์ บทที่อ้างอานุภาพพระปริตรที่ได้สาธยายแล้ว กำจัดอุปสรรคอันตรายทั้งปวง

33.บทชัยมงคลคาถา บทคาถาสวดเพื่อให้เกิดมีชัยมงคล กล่าวถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระกรุณาเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ เป็นสัจวาจาให้เกิดชัยมงคล ดังที่พระองค์ได้ทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน