สํานักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย และกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันได้เชิญคณะนักข่าวจากไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม เพื่อดูการสอดรับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) และความพร้อมของสถาบันระดับอุดมศึกษาไต้หวัน

การเรียนการสอนในคณะเครื่องกลและคอมพิวเตอร์ช่วยเหลือในวิศวกรรม (Department of Mechanical and Computer-Aided Engineering) ของมหาวิทยาลัยฟอร์โมซาที่มีการทุ่มทุนซื้อเครื่องยนต์ทำโลหะสำหรับอุปกรณ์เครื่องตัดโลหะ ตลอดจนหุ่นยนต์วางโลหะสำหรับเครื่องตัดมูลค่าหลายล้านบาทมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกับโรงงานมากที่สุด

สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นายเดเนียล ลิน นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งจากมาเลเซียระบุว่าที่นี่มีการเรียนพร้อมกับการปฏิบัติ ซึ่งเหมาะแก่การทำงานในอนาคต ส่วน นายชาน ขวานเฉิน นักศึกษาปีเดียวกันจากมาเลเซียเพิ่มเติมว่าที่ไต้หวันเลือกเรียนได้หลากหลายกว่า มีอาหารและไลฟ์สไตล์ที่ดีกว่า อีกทั้งค่าใช้จ่ายพอๆ กับที่มาเลเซีย

ในไต้หวันยังมีลักษณะพิเศษอีกว่าสถาบันการศึกษามีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนเพื่อฝึกนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยคริสเตียนฉางจุง ร่วมกับบริษัทจีโอเซต ที่ให้บริการด้านการสำรวจพื้นที่ด้วยเครื่องบินไร้คนขับ การทำแผนที่ด้วยระบบจีไอเอสและการสำรวจที่ดินในการสอนวิชาวิศวกรรมศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีก้าวหน้า อย่างการสอนบังคับโดรนโดยเจ้าหน้าที่จากบริษัทจีโอเซต

นอกจากนี้ห้องเรียนของภาควิชาดังกล่าวที่อยู่ในศูนย์วิจัยโดรนและศูนย์ออกแบบแอพพลิเคชั่น ก็มีเครื่องมือการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างการทดสอบการบินด้วยโดรนลำเล็ก การทดสอบระบบจำลองภาพเพื่อใช้การสร้างโดรน

ไม่เพียงแค่เรื่องนวัตกรรมเท่านั้น ดร.ซุน ห้วยหมิง อาจารย์จากคณะการจัดการข้อมูลเผยว่าที่คณะการท่องเที่ยว การจัดการอาหารเครื่องดื่มและการโรงแรมยังสอนการหมักทำเบียร์จากอ้อยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีมานานนับร้อยปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไม่ให้หายไป

นอกจากนี้ในภาพความร่วมมือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเทคโนโลยีไทเปได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการด้านการทำเครื่องใช้ในบ้าน ด้วยไม้ โดยสถานที่ฝึกสอนเป็นโรงงานทำกระดาษทิชชูเก่า แต่มีการดัดแปลงและร่วมกันซ่อมแซมโดยนักศึกษาและ อาจารย์ นายจี่ จื่อ-เฉิน ผู้อำนวยการโครงการจากศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมงานไม้ ระบุว่าทางมหาวิทยาลัยได้เลือกโรงงานเก่าเพราะอยู่ตรงกลางของชุมชนผลิตและค้าไม้ ซึ่งนักศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่กับบรรดาบริษัทที่ตั้งล้อมโรงงานนี้ได้ ซึ่งกลุ่มนักศึกษาต่างชาติกลุ่มแรกเป็นนักศึกษาจากเวียดนาม โดยจะมีการสอนทำงานไม้ฝีมือ เช่น ผลิตภัณฑ์ชุดวางขนมกินเล่น หรือชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้

มหาวิทยาลัยแห่งชาติจี่หนาน ที่เปิดภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นแห่ง เดียวในไต้หวันและเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวที่มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอาเซียน ดร.ฮิวจ์ เป่ย-ฉิว ศาสตราภิชานของภาควิชาเอเชียตะวันออกศึกษาระบุว่าที่นี่มีการสอนหลายด้าน ทั้งภาษา การเมือง วัฒนธรรมโดยรวมของภูมิภาค เพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่บริษัทต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนด้านความสัมพันธ์ก็มีการลงนามความเข้าใจร่วม กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอาเซียน อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในไทย หรือที่เวียดนามกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย เป็นต้น ส่วนนอกอาเซียนก็มีสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยเกียวโต จากญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ จากสหรัฐอเมริกา

ไต้หวันยังมีมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายแห่ง อย่างมหาวิทยาลัยเหมยเหอ ที่เชี่ยวชาญด้านการพยาบาล ซึ่งห้องเรียนก็มีการทุ่มทุนสร้างห้องคนไข้พร้อมมีหุ่นจำลองคนไข้ที่เสมือนจริง เหมือนกระทั่งอาการร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้และการฝึกฝนพยาบาลในการรักษาเบื้องต้นก่อนที่แพทย์เข้าตรวจ ตลอดจนห้องทดลองทางด้านอาหารเพื่อคนไข้ ห้องทดลองการวิเคราะห์ยา และห้องทดลองหาสารพิษในอาหาร เป็นต้น ซึ่งลักษณะการสอนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอย่างมาก

ส่วนมหาวิทยาลัยเฉพาะทางอีกแห่ง ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และ ทางด้านเกษตร ศาสตร์และมีสายสัมพันธ์ทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาไทยหลายแห่งเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

ดร.หวัง หยู่หมิน อาจารย์และหัวหน้าโปรแกรมการศึกษานานาชาติด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมน้ำ ได้พาคณะไปดูการวิจัยทำถนนที่ซึบซับน้ำได้เร็ว ซึ่งเป็นโครงการที่วิจัยร่วมกันกับนักศึกษา และพบว่าโครงที่วิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการยอมรับ จากรัฐบาลพร้อมกับมีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง อย่างโครงการถนน นอกจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีการวิจัยดอกกล้วยไม้นานาพันธุ์ พร้อมกับมีการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ส่งออกกล้วยไม้ในการวิจัยหาพันธุ์ใหม่ หรือวิจัยเพื่อหาช่องทางการเจริญเติบโตของพืช

จากที่ได้เห็นมหาวิทยาลัยหลายแห่งพบว่ามีจุดเด่นคล้ายกันคือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศ ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกได้ และมหาวิทยาลัยไต้หวันต่างมีความครบครันในการเรียนการสอนและส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้

เห็นเช่นนี้แล้วไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน