วันคล้ายวันพระราชสมภพ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ชาวบ้านนางอย-บ้านโพนปลาโหล ใช้ก๊าซไบโอมีเทนฟรีเดือนเมย. “ดอยคำ-สนพ.-มช.” ร่วมเปิด โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรัย์

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จับมือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวเปิด “โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซ เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ” ที่ สถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ชุมชนบ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหล ภายในพื้นที่ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและสาธิตฯ พร้อมด้วย นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนบรรยากาศในการเปิดโครงการดังกล่าวเต็มไปด้วยความยินดีและเป็นกันเอง ซึ่งมีพนักงานดอยคำ โรงงานหลวงฯ ๓ (เต่างอย) ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล ชาวบ้านในพื้นที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเปิดโครงการฯ ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ พร้อม นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา และผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี และผู้เข้าร่วมเปิดโครงการฯ ได้เดินเยี่ยมชมสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด พร้อมทั้งทดลองทอด ไส้กรอก นักเก็ต และ เฟรนช์ฟรายส์ จากก๊าซไบโอมีเทน จากเตาพิเศษสำหรับ แก๊ส CBG ที่บ้าน นางพรรพิศ พ่อค้าช้าง ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้กินกันอย่างเพลิดเพลินสนุกสนานแบบเป็นกันเอง








Advertisement

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดงานโรงจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) และผลสำเร็จของการดำเนินโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊ายไบโอมีเทนด้วย ระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทน บ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล และชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน

ตรงนี้ทำให้มั่นใจว่า โครงการฯ ก๊าซไบโอมีเทนฯ จะนำไปสู่เต่างอยโมเดล CBG เพื่ออนาคตอันใกล้จะได้สร้างสุขด้านพลังงานทดแทนให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุน กิจกรรมและโครงการพลังงานด้านต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และประชาชนโดยรวม เพื่อขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

“ในนามของกระทรวงพลังงาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน รวมถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทำให้ประเทศชาติมีความั่นคงในด้านพลังงานสืบต่อไปในอนาคต”

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ดอยคำฯ หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 บริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ จึงได้มีแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ทั้ง 4 แห่ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดแล้มและชุมชน

การที่ทางบริษัทได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน นับเป็นการสนองตอบต่อพันธกิจของบริษัทดอยคำ

สิ่งสำคัญทำให้ชุมชนบ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหล ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานหลวงฯ ได้ใช้ก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของโรงงาน มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยสามารถจำหน่ายให้ชุมชนได้มากกว่าจำนวน 280 ครัวเรือน ช่วยชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย

ที่น่ายินดียิ่งคือชุมชนได้ร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการดังกล่าว โดย มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม บริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป โดยบริษัท ดอยคำ จะได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของก๊าซชีวภาพต่อไป

ดอยคำ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ จึงกำหนดแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯ ทั้ง 4 แห่ง จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ สนพ. และ มช. ในครั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนในเรื่องของลดค่าใช้จ่ายภายในตัวเรือน

อีกทั้งยังเสริมสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อให้สามารถมีกำลังดูแลชุมชนต่อไปได้ และยังเป็นการปูแนวทางพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองในการร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการพลังงานทดแทน นำร่องต้นแบบให้มีการใช้งานในประเทศไทยในอนาคต

“เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นวันเปิดโครงการฯ ทั้งโครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดใช้สถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) หรือโรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรัณย์” อย่างเป็นทางการ ดังนั้นเดือนเม.ย.นี้ จึงเปิดให้ชาวบ้านนางอย-โพนปลาโหล ได้ใช้ก๊าซฟรี

และเดือนพ.ค.จะเริ่มเก็บค่าก๊าซ CBG ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อกำหนดค่าใช้ก๊าซต่อไป เบื้องต้นดอยคำจะเป็นพี่เลี้ยงเข้าไปให้ความรู้เรื่องระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ และเมื่อรัฐวิสาหกิจชุมชนฯ ทำได้ด้วยตนเอง เราจะถอยออกมาช่วยอยู่ข้างๆ ซึ่งเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะถือเป็นห่วงโซหนึ่งของดอยคำ ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการทำให้เป็นโรงงานสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันฯ คิดค้นวิจัยการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV สามารถนำไปใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG)

สำหรับโรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรัณย์” ที่ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตแปรรูปมะเขือเทศ มาผ่านกระบวนการของระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน สามารถผลิตได้ 262.81 kg ต่อวัน โดยมีราคาต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม จากการทดสอบก๊าซ CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 280 ครัวเรือน”

จากผลการดำเนินการดังกล่าว ชาวบ้านจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนอัด จึงร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการฯ ดังกล่าว โดยวิสาหกิจชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม บริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

 

ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มั่นคงในขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านมีพลังงานทดแทนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ สู่ เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ในการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียมาผลิตพลังงานเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด ทดแทน LPG เพื่อใช้ในชุมชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน