ป่วยเบาหวาน ฉีดวัคซีนโควิดอันตรายหรือไม่ หมอแนะ วิธีปฏิบัติตัวก่อนรับวัคซีน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทย นอกจากประชาชนต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ และมีการนำวัคซีนเข้ามาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังเกิดความกังวลในผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางกลุ่มโรค อย่างเช่น เบาหวาน ว่าควรจะฉีด หรือไม่ฉีดวัคซีน เนื่องจากตามข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากติดโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด จึงถือโอกาสที่ครบรอบ 100 ปี ของการคิดค้น “อินซูลิน” ในการรักษาโรคเบาหวาน จัดกิจกรรม Facebook Live บนเพจร้อยเรื่องโรคเบาหวาน ชวนไขข้อสงสัย ฉีด…ไม่ฉีดดี?

มี อาเล็ก ธีรเดช เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมพูดคุยซักถามข้อสงสัยกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์อายุรศาสตร์และอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ พร้อม นพ.สิระ กอไพศาล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

นพ.สิระ เผยว่า โรคเบาหวานคือภาวะอักเสบเรื้อรัง การที่น้ำตาลในเลือดสูง 200-300 เป็นการปล่อยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอักเสบตลอดเวลา ส่วนโควิด-19 เป็นโรคทำให้เกิดการอักเสบเช่นกัน เมื่อคนเป็นเบาหวานติดโควิด-19 จึงทำให้โรคทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ไม่ได้แปลว่าคนป่วยเป็นเบาหวานจะรับเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้นกว่าคนทั่วไป ยังคงมีอัตราที่สามารถรับเชื้อได้เท่าๆ กันคนอื่นๆ ซึ่งแนะนำว่าคนที่อายุมากกว่า 35 ปี มีน้ำหนักเยอะ มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะเป็นเบาหวาน ควรเข้ามาคัดกรองเบาหวาน เพราะหมายความว่าทราบเร็ว ควบคุมโรคได้เร็วเท่าไรยิ่งดี

ตามรายงานพบว่าคนที่คุมเบาหวานไม่ดี จะมีความรุนแรงสูงเมื่อเป็นโควิด-19 เพราะการรักษาบางครั้งอาจใช้ยาสเตียรอยด์ด้วย ซึ่งยาตัวนี้ไม่ดีต่อผู้เป็นโรคเบาหวาน รวมไปถึงคนที่เป็นโรคอ้วน โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคปอด เมื่อติดโควิดอาการจะรุนแรงมากขึ้น








Advertisement

คนที่เป็นเบาหวานเมื่อติดโควิดแล้ว ตามรายงานพบมีอัตราต้องไปนอนไอซียูมากกว่าปกติถึง 2 เท่า หรือไม่ต้องเป็นเบาหวานแต่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีก็มีอาการรุนแรงได้

แต่หากต้องไปรับวัคซีนโควิด ให้คุมโรคที่มีอยู่ให้ดี ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน ที่สำคัญคนเป็นเบาหวานไม่แนะนำให้หยุดยาก่อนไปรับวัคซีน ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด อันตรายมาก ควรรับยาปกติ อยู่ในการดูแลของแพทย์

ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 มีหลายชนิด เช่น ซิโนแวคที่เรามี เป็นวัคซีนเชื้อตาย ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิต อย่างน้อยต้องฉีดสองเข็ม ภูมิอาจขึ้นได้ไม่ดี เพราะทำยาก แต่ข้อดีก็คือเป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อธรรมชาติ ฉีดแล้วกระตุ้นภูมิได้ตั้งแต่เข็มแรก มีภาวะผลข้างเคียง ลิ่มเลือดแข็งตัวเล็กน้อยคือ 1 ต่อ 100,000 ราย

ต่อมาคือวัคซีน แบบ mRNA ตัวนี้ผลิตง่าย กระตุ้นภูมิได้สูงมาก ผลข้างเคียงที่อเมริกามีรายงานว่าเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตัวเลข 8 คน ใน 1,000,000 คน วัคซีนอีกชนิดคือวัคซีนแบบใช้โปรตีนบางส่วนในการผลิต ปลอดภัย ผลิตช้า และยังมีข้อมูลน้อย

“ข้อแนะนำก่อนรับวัคซีนของผู้มีโรคประจำตัวก็คือ เตรียมตัวก่อนรับวัคซีน ถ้ามีโรคประจำตัวต้องคุม ดูแลรักษาให้ดี และต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เตรียมใจให้พร้อม

หากฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียง อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัวไม่ใช้แพ้ จะเกิดในช่วง 1-2 วันแรกถือว่าไม่รุนแรง แต่ผลข้างเคียงรุนแรงที่จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์คือ เจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจไม่ออก ชักหมดสติ ปวดท้องรุนแรง

ส่วนอาการแพ้วัคซีนคือ แพ้แบบรุนแรง มีลมพิษทั้งตัว ผื่นคันบวมแดง หายใจหอบเหนื่อย มีเสียงวีดจากหลอดลมที่ตีบ” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

ตามรายงานการศึกษาทางการแพทย์ที่มีปรากฎคือ มีการศึกษาว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกแล้วต่อเข็มสองด้วยไฟเซอร์ใน 8-12 สัปดาห์ ปรากฎภูมิขึ้นดีมาก กระตุ้นภูมิได้สูงกว่า ไฟเซอร์เข็มเดียวด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่าตามมาด้วยผลข้างเคียงที่เพิ่มมากขึ้น

แต่สำหรับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม แล้วต่อด้วยโมเดอร์น่า ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ตรงนี้ ให้รอการศึกษาเพิ่มเติมก่อนอาจมีออกมาในอนาคต

ส่วนการฉีดซิโนแวด 3 เข็มนั้น ความเห็นส่วนตัวหมอคิดว่าไม่น่าเวิร์ก การฉีดซิโนแวด 2 เข็มอาจภูมิสูงได้เพียง 6 เดือน และการฉีดแอสตร้า 2 เข็มภูมิอาจอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แล้วค่อยฉีดวัคซีนตัวต่อไปกระตุ้นภูมิต่อ

“สำหรับคนที่ติดโควิดและรักษาหายแล้ว อาจจะภูมิขึ้นแต่อยู่ไม่นานแล้วแต่ราย แม้เคยติดเชื้อแล้วยังแนะนำให้รับวัคซีนอยู่ อาจรับวัคซีนหลังหายจากโรคโควิดไปแล้ว 3 เดือน โดยอาจฉีดแค่ 1 เข็ม และหากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องระวังตัวอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน