มนุษย์แม่ เปิดมุมมองหญิงแกร่ง ขับแกร็บสู้โควิด กู้วิกฤตเงินในกระเป๋า

มนุษย์แม่ ไม่ยอมแพ้ วิกฤตโควิด- เทศกาลวันแม่แต่ละปี มักเป็นช่วงเวลาที่แม่ลูกหลายคนได้ใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัว แต่ปีนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในเร็ววัน ทำให้หลายครอบครัวอาจไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทในการดูแลครอบครัวของคุณแม่หลายคนต้องพบกับท้าทายขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางอาชีพ จำเป็นต้องลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาทางรอดเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ แกร็บมีเรื่องราวของ 2 มนุษย์แม่ ที่เติบโตมาจากต่างถิ่น มีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน แต่ทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการเลือกจะสู้เพื่อดูแลลูกอย่างดีที่สุด

เกือบคิดสั้น ได้แรงฮึดหลังกอดลูกร้องไห้
อรัญญา สิงห์ทิพย์ หรือ แม่ญา คุณแม่วัย 47 ของลูกสาวเพียงคนเดียวอย่าง น้องปิ่น-ภัสวณันท์ สิงห์ทิพย์ วัย 18 ปี เล่าว่า เดิมทีเธอเป็นคน จ.ยโสธร ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ กว่า 9 ปีแล้ว อาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงชีพมาตลอดคือขายอาหาร เพราะชอบทำอาหารเป็นทุนเดิม ก่อนหน้านี้เปิดร้านขายอาหารตามสั่งอยู่แถวตลาดศรีดินแดง แต่ต้องปิดตัวไปเพราะพิษโควิดตั้งแต่ระลอกแรก

“แม่ชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะซึมซับมาจากคุณยาย ทำได้หลากหลายทั้งอาหารไทย ขนมไทย และเบเกอรี่ พอโตมาเลยได้ใช้ความรู้ตรงนี้มายึดเป็นอาชีพหารายได้ดูแลครอบครัวมาตลอด และถ่ายทอดให้น้องปิ่นไว้ด้วย วันข้างหน้าอย่างน้อยเค้าก็จะได้มีวิชาติดตัวไป”

“ช่วงเริ่มมีโควิดเข้ามาแล้วรายได้ค่อยๆ หายไป ยอมรับเลยว่าเครียดมาก เพราะเรามีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลแต่ละเดือนไม่น้อย พอปัญหามันเข้ามาทุกทาง หันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้ เพราะเราเองก็เลี้ยงลูกตัวคนเดียว

ตอนนั้นมีจังหวะที่เราเกือบคิดสั้นด้วย คือเดินไปที่สะพานลอยและพร้อมที่จะไปแล้ว แต่เหมือนดวงยังไม่ถึงฆาต คุณยายโทร.เข้ามาและบอกให้กลับบ้านเพราะน้องปิ่นรออยู่ พอกลับมาเห็นหน้าลูกเราก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ กอดคอร้องไห้กับลูก และได้คิดว่าหลังจากนี้ไม่เอาอีกแล้ว ถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกเราจะอยู่ยังไง เขาอยู่กับเรามา 18 ปีเราต้องไม่ทิ้งเขาไปง่ายๆ แบบนี้อีก จากจุดนั้นเลยเป็นแรงฮึดให้เราลุกขึ้นมาสู้ต่ออีกครั้ง” แม่ญา กล่าว

อย่ามัวเสียใจในโชคชะตา ทางรอดยังมี
เมื่อเจอพิษโควิดเข้าไปทำให้แม่ญาจำเป็นต้องปิดร้านอาหารตามสั่ง ระหว่างเคว้ง กำลังมองหาอาชีพใหม่ก็มีเพื่อนชักชวนให้ลองมาขับแกร็บ ยังไม่ตัดสินใจทำเพราะไม่คุ้นชินกับเส้นทางในกรุงเทพ และไม่มั่นใจว่าจะทำได้ จึงลองไปเป็นเด็กสะพายกระเป๋าแกร็บให้เพื่อนก่อน 1 วัน

“แม่กลัวมากเพราะเราเองก็อายุมากแล้ว สายตาก็ไม่ค่อยดี จีพีเอสก็ดูไม่ค่อยเป็น มันดูยากไปหมดสำหรับคนวัยเราที่จะมาเริ่มเรียนรู้อะไรแบบนี้ จนสุดท้ายมันต้องทำเพราะเราแทบจะไม่มีเงินเหลือแล้ว เลยตัดสินใจสมัคร พอระบบอนุมัติก็คว้ามอเตอร์ไซค์ไปขับเลย

วันแรกแม่ก็ลองขับคนเดียวก่อน โห…กลับมาบ้านวันนั้นร้องไห้กับลูกเลย เราไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน จากที่เคยเป็นคนทำอาหาร ตอนนี้กลายมาเป็นคนส่งอาหาร ชีวิตมันเปลี่ยนไปเยอะ พอได้สติ มาคิดดูอีกทีชีวิตคนเราก็เปลี่ยนไปทุกวัน จากที่เคยมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ พอเจอโควิดเข้าไปบางคนก็แทบไม่มีอาชีพทำด้วยซ้ำ แต่เรายังดีที่ยังมีทางออก ถ้าไม่มัวแต่นั่งเสียใจในโชคชะตา แม่เชื่อว่ายังไงเราก็หาทางรอดเจอ” แม่ญาเล่า

มีลูกสาวเป็นพาร์ทเนอร์
แม่ญาขับแกร็บคนเดียวจนเริ่มคุ้นเคย แต่ด้วยความเป็นห่วงคุณแม่ วันว่างน้องปิ่นจึงอาสาออกไปกับแม่ด้วย

“ปิ่นเพิ่งจบ ม.6 จาก กศน.ค่ะ กำลังเก็บสะสมทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย คิดว่าจะเข้าคณะมนุษย์ศาสตร์รามคำแหง เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงและเราสามารถจัดการเวลาเข้าเรียนได้”

“ก่อนหน้านี้ปิ่นมีรับงานเดินแบบ หรือถ่ายแบบทำให้พอมีรายได้เข้ามา แต่พอโควิดระบาดหนักๆ งานก็ค่อยๆ น้อยลงจนทุกวันนี้ไม่มีงานเลย รายได้หลักๆ ตอนนี้เลยมาจากแกร็บทางเดียวเลยค่ะ เวลาออกไปกับคุณแม่ก็จะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน หลักๆคือแม่ขับรถ ปิ่นจะช่วยดูทางและวิ่งรับออเดอร์

พอออกมาทำงานด้วยกันแบบนี้ทำให้เราได้ดูแลซึ่งกันและกันตลอดเวลาเหมือนเป็นพาร์ทเนอร์กัน เพราะตอนนี้ปิ่นก็โตแล้วก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องดูแลคุณแม่บ้าง และเราต้องเป็นที่พึ่งให้กับแม่ได้ในวันที่เขาต้องการกำลังใจ” พูดจบน้องปิ่นหันมองหน้าแม่ด้วยรอยยิ้ม

“แม่ญาแยกทางกับคุณพ่อของน้องปิ่นมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้การได้อยู่กับลูกสองคนกลับรู้สึกสบายใจด้วยซ้ำ เพราะเราไปไหนไปกันเป็นคู่ และกลายเป็นว่าตั้งแต่มาขับแกร็บทุกวันนี้รู้จักเส้นทางในกรุงเทพมากขึ้นกว่าเดิมอีก แถมยังอุ่นใจเพราะแกร็บทำประกันอุบัติเหตุเพื่อคุ้มครองคนขับด้วย

ตอนนี้แม่คิดว่าไว้รอสถานการณ์โควิดดีขึ้นแม่อาจจะเก็บเงินซื้อรถสักคันทำเป็น Food Truck ขับรถขายอาหารไปเรื่อยๆ ก็ได้ เราจะได้เจอลูกค้าหลากหลายแบบ ชีวิตน่าจะสนุกดีเหมือนกัน” แม่ญากล่าว

พิษวิกฤตหยุดจับเส้น มาจับแฮนด์มอไซค์
มนุษย์แม่ สู้ชีวิตอีกราย พี่อ้อย-ศิริพร สีขำ วัย 35 ปี “พี่เกิดและโตที่สุพรรณบุรี พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เราเด็กๆ เราก็เทียวไปเทียวมา อยู่กับพ่อบ้าง แม่บ้าง แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็มีครอบครัวใหม่ พี่เลยตัดสินใจเข้ากรุงเทพ มาตายเอาดาบหน้าตั้งแต่อายุ 15 เพราะอยู่ที่บ้านเราก็ไม่รู้จะทำอะไร ตอนแรกพี่จบแค่ ป.3 เองแล้วมาเรียนต่อ กศน.จนจบ ม.3 งานสำหรับคนมีความรู้น้อยก็หายากเป็นธรรมดา

“ทำมาหมดทั้งงานโรงงาน งานก่อสร้างเพื่อให้ได้เงิน โชคดีไปเจอเพื่อนที่เขาเรียนนวดแผนไทย เขาก็มาสอนเรา จนเราได้วิชาติดตัวและยึดป็นอาชีพหลักเลี้ยงตัวเองมาเรื่อยๆ แต่พอเจอโควิดเข้าไปกระทบโดยตรงเลย ต้องหยุดทำ จากอาทิตย์เป็นเดือน จากเดือนจนเป็นปีกว่าแล้วที่เราไม่ได้กลับไปนวดเลย

ก็มีไปสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน กำลังกลุ้มใจอยู่ว่าจะหารายได้ทางไหนดี ก็มีเพื่อนมาชวนขับแกร็บส่งอาหาร พี่เลยคิดว่าอยากลองดูสักตั้งก็ไม่เสียหายอะไร เลยลองขับมาเรื่อยๆ ตอนนี้ทำได้ 7 เดือนกว่าแล้ว”

เมื่อต้องเปลี่ยนอาชีพ หลายคนอาจลังเล แต่ไม่ใช่พี่อ้อยคนนี้ “พอตัดสินใจแล้วว่าจะมาขับแกร็บพี่ก็เริ่มลุยเลย คว้ามอเตอร์ไซค์ออกไปอยู่ในจุดที่เขาบอกกันว่าร้านอาหารเยอะ จำได้ว่าวันแรกที่ออกไปขับเหมือนโดนรับน้องใหม่ เพราะเรายังไม่คล่องแต่อาศัยครอบครัวชุดเขียวอย่างคนขับแกร็บด้วยกันนี่แหละช่วยสอนให้ก็ค่อยๆ เรียนรู้งานจนผ่านมาได้

วันแรกค่อนข้างทุลักทุเล เพราะพี่ดูจีพีเอสไม่เก่ง ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ เกือบไปบ้านลูกค้าไม่ถูก อุปสรรคเยอะไปหมด แต่โชคดีเราเป็นคนกล้าถาม อะไรไม่รู้ก็อาศัยถาม พี่ๆ เพื่อนๆ ที่ขับแกร็บด้วยกัน พวกเขาก็ยินดีสอนให้เราตลอด”

การขับแกร็บ จริงๆ ก็คล้ายกับตอนทำงานนวด คือยิ่งขยัน เรายิ่งได้เงิน ทุกวันนี้พี่ก็พออยู่ได้ แต่พอมีเคอร์ฟิวเราก็ต้องออกเช้าหน่อยเพราะร้านอาหารปิดเร็วขึ้น ที่สำคัญคือต้องระวังมากขึ้น ดูแลตัวเองด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่แกร็บกำหนด

คนเป็นแม่…อยู่ที่ไหนก็ยังเป็นแม่
ไม่ใช่ตัวคนเดียว พี่อ้อยเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 2 คน คือน้องเบนซ์ ลูกสาวคนโตวัย 19 ปี และน้องเป้ ลูกชายคนเล็กวัย 11 ปี ที่อาศัยอยู่กับคุณยายที่สุพรรณฯ แม้ตอนนี้จะไม่ได้อยู่กับลูก แต่พี่อ้อยก็ไม่เคยปล่อยระยะทางมาทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับลูกห่างกัน

“พี่ให้ลูกอยู่กับยายที่สุพรรณฯเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ เราอยากให้เขาได้เรียนสูงๆ จะได้ไม่ต้องลำบากแบบเรา เพราะตอนเด็กๆ เราอยากเรียนมากแต่ไม่มีโอกาส ปกติเก็บเงินได้สักก้อนหนึ่งพี่จะกลับไปหาเขาบ่อยๆ

แต่ปีนี้เจอกันยากขึ้น ยิ่งวันแม่ปีนี้โอกาสได้กลับไปเจอกันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราอยู่ในจุดที่เสี่ยง ไม่อยากเอาความเสี่ยงกลับไปหาครอบครัวด้วย ลูกๆ เขาก็เข้าใจ เขารู้ว่าแม่อยู่ตรงนี้คอยทำงานหาเงินเพื่ออนาคตของพวกเขา”

“พี่โทร.คุยกับลูกทุกวันเลย บางวันโทร.หากันเช้า กลางวัน เย็น ทำให้เราไม่รู้สึกว่าห่างกันเลย ความเป็นแม่ลูกไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนความสัมพันธ์มันก็ไม่มีวันเปลี่ยน แล้วโชคดีที่ผ่านมาพี่ไม่เคยมีเรื่องลูกให้หนักใจเลย พวกเขาเองยังช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจเเม่ด้วยซ้ำ

อย่างน้องเบนซ์เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยหารายได้เสริม พอเราเห็นว่าลูกตั้งใจเรียน ดูแลตัวเองได้ และไม่เกเร เป็นความภูมิใจสูงสุดของคนเป็นแม่แล้วนะ” พี่อ้อยกล่าวด้วยสีหน้าที่ภาคภูมิใจ

“ในสถานการณ์ตอนนี้ เราต้องทำใจไว้เลยว่ามันจะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่แน่ๆ แต่เวลาที่รู้สึกว่าท้อสำหรับคนเป็นแม่ ขอแค่หันไปมองหน้าลูกสักครั้ง คิดถึงหน้าของลูกไว้ ร้อยทั้งร้อยเราก็จะมีแรงฮึดสู้ต่อ แม้ว่าเราจะเหลือแรงเฮือกสุดท้ายแต่เราก็จะไปต่อได้ เพราะลูกคือกำลังใจที่ดีที่สุดของคนเป็นแม่ทุกคน

หลายครั้งเวลาเหนื่อยมากๆ พอนึกถึงหน้าลูกก็จะทำให้เราอยากสู้ต่อ ลองดูอีกสักตั้ง อย่ายอมแพ้กับมัน” พี่อ้อยจบบทสนทนาแบบนักสู้

ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ หนุ่มแกร็บ พิการแต่กำเนิดสู้ชีวิต ลั่นไม่เคยคิดท้อ

“แกรบ” เปิดโอกาสสูงวัยร่วมอาชีพ ชี้เรื่องเรียนรู้ไม่มีคำว่าเกษียณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน