“ศิริรัตน์ สิวราวุฒิ”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาการเข้าชมพระเมรุมาศ ที่สุดแห่งสถาปัตยกรรมยุครัตนโกสินทร์ และนิทรรศการประกอบไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560 ทำให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนยังมีโอกาสจะเข้าศึกษาเรียนรู้ในขณะนี้

สำหรับเบื้องหลังความมหัศจรรย์ในงานศิลป์ของพระเมรุมาศทุกแง่มุมนั้น สำนักพิมพ์มติชนร่วมรำลึกความร่วมมือร่วมใจครั้งประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์หนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” หนังสือที่รวบรวมทุกเรื่องราวของพระเมรุมาศองค์สำคัญ โดยจัดพิมพ์เป็น ครั้งที่ 2

ไม่เท่านั้นยังจัดเสวนา “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” เพื่อ เผยแพร่ข้อมูลความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้อยู่ เบื้องหลังการรังสรรค์งานสร้างพระเมรุมาศ ที่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนินกลาง ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน มีประชาชนลงทะเบียนร่วมงานจำนวนมาก

ภายในงานได้จัดนิทรรศการเล็กๆ เรื่อง “19 ความมหัศจรรย์ของพระเมรุมาศ องค์ ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุครัตนโกสินทร์” อีกทั้งยังมอบหนังสือฉบับพิเศษ “สถิตพิมานสถาน” ดีวีดีสารคดีพิเศษ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์”และโปสเตอร์ภาพคุณทองแดงหรือสัตว์หิมพานต์ให้ผู้ร่วมงานเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ไฮไลต์สำคัญเป็นการสาธิตและอธิบาย ขั้นตอนการทำงานอย่างใกล้ชิดของบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์งานสร้างพระเมรุมาศ 4 ท่าน ได้แก่ นายสมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์รอบพระเมรุมาศ มาปั้นปูนสดโชว์ พร้อมด้วย นายชิน ประสงค์ ผู้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง คุณโจโฉ ประดับข้างพระจิตกาธาน มาปั้นสุนัขขนาดย่อมจากดินน้ำมันให้ชม

ด้าน นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ ฯลฯ มาเขียนลายโชว์บนกระดานอย่างละเอียด และ นางนิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ บอกเล่าเรื่องราวของผ้าม่านประดับพระเมรุมาศผ่าน

4 วิทยากรมาให้ความรู้เรื่องพระเมรุมาศในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศด้วยความรู้และความเข้าใจ

ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ผู้เขียน งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง กล่าวว่า ในอดีตงานพระเมรุและพิธีกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ เป็นเรื่องของคนที่เราผูกพันกับผู้ที่จากไปด้วยคุณงามความดีของผู้ที่จากไปนั้น คนที่อยู่ข้างหลังก็จะระลึกถึง สร้างระเบียบแบบแผน สร้างวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องเพื่อระลึกถึงการเดินทางไกลของผู้ที่จากไป เป็นที่มาของการเกิดธรรมเนียมรวมไปถึงพระราชพิธี

“ในทุกวัฒนธรรมมีเรื่องการประกอบพิธีส่งผู้ที่วายชนม์ไปยังภพภูมิใหม่ตามความเชื่อแต่ละแขนง ประเทศไทยรับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเราไม่ได้ปลงศพด้วยการเผา รวมถึงในพระราชพิธีจะเห็นว่ามีการใช้กลองมโหระทึกก็เป็นภาพสะท้อนที่เห็นมายาวนานหลายพันปี และเหลืออยู่ในราชสำนักไทยเท่านั้น

ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน พระราชพิธีที่ได้เห็นเป็นธรรมเนียมที่มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องตามแวดล้อมของแต่ละสังคม” ดร.เกรียงไกรกล่าว

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เขียน “รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่ในรัชกาลที่ 7” อธิบายว่า เมรุมีความหมายศูนย์กลางหลักโลก แต่ในความหมายที่ปรากฏในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมรุไม่ได้หมายถึงที่เผาศพ มีบันทึกว่าเมรุทำขึ้นในงานมงคล

เมรุเริ่มอยู่ในงานเผาศพปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงคราม ในรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ.2325 พระเมรุมาศครั้งนี้มีคติซ่อนอยู่ไว้มากมาย เช่น สันดุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต พบจิตรกรรมที่มีเทวดาอยู่ 2 องค์ ขณะที่สระอโนดาต หมายถึง สระที่ไม่เคยร้อน

เพราะมีภูเขาจะบังพระอาทิตย์ ฐานของพระเมรุมาศของ ร.9 ทั้ง 4 ด้านประกอบไปด้วยสัตว์ ช้าง ม้า โค สิงห์ กำลัง พ่นน้ำ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียม ขณะที่ราวสะพานรูปนาค มีความหมายคือ สะพานสายรุ้ง มาจากนิทานเขมรและอินเดีย ที่บอกว่าโลกกับสวรรค์มีสายรุ้งที่เชื่อมต่อกัน

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียน “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ให้ข้อมูลถึงธรรมเนียมที่ได้เห็นในพระราชพิธีครั้งนี้ว่า เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตจะเห็นว่ามีธรรมเนียมการ ไว้ทุกข์ ในโบราณไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องไว้ทุกข์อย่างไร แต่จะมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกด้วยการใช้สีของเครื่องแต่งกาย การโกนผม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประชาชนนุ่งห่มสีขาว มีธรรมเนียมว่า ถ้ามีอายุน้อยกว่าผู้วายชนม์ให้แต่งสีขาว ถ้าอายุมากกว่าให้แต่งสีดำ ถ้าไม่ได้เป็นญาติกับผู้วายชนม์ จะแต่งสีกลางๆ เช่น ม่วงเข้ม กรมท่า เป็นการแยกสีตามวาระและความสัมพันธ์

“การแต่งกายด้วยชุดดำเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น แต่เดิมยังไม่ได้มีการกำหนดการแต่งกายที่เด่นชัดนัก ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 9 มีธรรมเนียมการแต่งชุดดำ ดังจะเห็นในการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ที่มีการกำหนดมาตรฐาน

ขณะที่อาชีพที่มียูนิฟอร์มชุดสีต่างๆ ก็จะมีธรรมเนียมแบบโลกตะวันตกคือการใช้โบดำแสดงถึงการไว้ทุกข์ รวมถึงการโหลดภาพโบดำคาดบนเพจโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก การแปรอักษรที่แสดงถึงความจงรักภักดี ทั้งหมดนี้ถือเป็นธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้น” ดร.นนทพรกล่าว

รศ.ยุวดี ศิริ ผู้ร่วมเขียน “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” กล่าวว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในพระเมรุมาศ ผู้ถวายงานได้ใส่รายละเอียดไว้มากมายที่ล้วนตั้งใจทำเพื่อถวายในหลวง ร.9 ดังที่ปรากฏในสัญลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่รูปปั้นของคุณโจโฉและคุณทองแดงที่ใส่หูกระต่าย ฉากบังเพลิงที่มีภาพพระนารายณ์อวตาร 8 ปาง ด้านล่างของฉากจะประกอบไปด้วยโครงการพระราชดำริต่างๆ

รวมถึงจะสังเกตได้ว่าผ้านุ่งของเทวดาวาดเป็นลวดลายของผ้าจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ ภาคเหนือ ผ้าชาวเขา ภาคใต้ ผ้าเกาะยอและปาเต๊ะ ภาคตะวันออก ผ้าปักธงชัยและผ้าไหม ภาคตะวันตก เป็นตัวแทนภาคกลางใช้ผ้าราชสำนัก

ขณะที่ลานอุตราวัฏ หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ ประดับไปด้วยต้นไม้ ประดับไปด้วยดอกดาวเรือง 3 แสนต้น และไม้ดัดหลายต้นด้วยกัน ขณะที่กระถางเซรามิกเถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี ที่ออกแบบเป็น 9 เหลี่ยม วาดดอกดาวเรืองที่มี 90 กลีบ

หมายถึงการส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 ไปถึงรัชกาลที่ 10 ตรงกลางดอกดาวเรืองมี 9 กลีบหมายถึงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมถึงมีรูปกระต่าย 5 ตัว แทนปีพระราชสมภพและเลข 5 แทนวันพระราชสมภพวันที่ 5 ธันวาคม เป็นต้น เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

“เมื่อประชาชนเดินทางมาที่พระเมรุมาศ คงไม่ได้มาดูแค่ความงดงาม หรือความยิ่งใหญ่ที่ประชาชนชาวไทยตั้งใจทำถวาย สัญลักษณ์ที่ยังปรากฏอยู่นั่นก็คือ นพปฎลมหาเศวตฉัตรที่หมายถึงตัวแทน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่ในชั้นเชิงกลอนที่ 7 มองขึ้นไปจะเห็นรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต อยากให้ทุกคนได้ไปกราบเป็นครั้งสุดท้าย” รศ.ยุวดีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน