กำเนิดแฟรงเกนสไตน์ โน้ตบุ๊กแปลงร่างยุคโควิดครองโลกจากไมโครซอฟท์

กำเนิดแฟรงเกนสไตน์ – วันที่ 23 ก.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานย้อนรอยความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดจากไมโครซอฟท์ ผู้พัฒนาวินโดวส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา รหัสโครงการว่า “The Frankenstein” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การปิดสำนักงานของไมโครซอฟท์ที่กรุงวอชิงตันในช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนมี.ค. 2563 ส่งผลให้ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์แท็บเล็ตตระกูล Surface ต้องกลับไปทำงานจากบ้านแทน

หนึ่งในสิ่งที่ทีมพัฒนาข้างต้นนำติดมือกลับไปด้วยในครั้งนั้นเป็นเครื่องต้นแบบของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่สามารถแปลงรูปร่างเป็นแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นโปรโตไทป์ที่ทางไมโครซอฟท์กำลังพัฒนาควบคู่ไปกับระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง วินโดวส์ 11 โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์มีกำหนดจะวางจำหน่ายในวันที่ 5 ต.ค.นี้

The Frankenstein เมื่อครั้งนั้นไม่มีความพร้อมที่นำมาวางจำหน่ายใดๆ เพราะเป็นเพียงเครื่องปรับปรุงต่อจากเครื่อง Surface Pro ที่เป็นกึ่งแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊ก มีเซ็นเซอร์ใหม่ แป้นพิมพ์ และทัชแพด รวมทั้งอินเตอร์เฟซที่ต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์ข้างต้นนี้ ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันในชื่อสินค้าทางการแล้วว่า Surface Laptop Studio เป็นหนึ่งในดาวเด่นของผลิตภัณฑ์จากไมโครซอฟท์ที่จะวางจำหน่ายในปลายปีนี้ เพิ่งเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การออกแบบหลักของ Surface Laptop Studio ของทางไมโครซอฟท์ คือ ต้องการให้เป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่สามารถเปลี่ยนแปลงฟอร์ม แฟ็กเตอร์ ได้ตามความต้องการการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต สนนราคาเริ่มต้นที่ 1,599 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 หมื่นบาท

Surface Laptop Studio ขณะเป็นโน้ตบุ๊กนั้นจะมีหน้าจอขนาด 14.4 นิ้ว โดยผู้ใช้สามารถดึงหน้าจอเข้ามาหาตัวเองได้ เรียกว่า Stage mode กลายเป็นเหมือนกับแท็บเล็ตที่ตั้งไว้บนแท่น เหมาะสำหรับชมคอนเทนต์ต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือเล่นเกม

ผู้ใช้ยังสามารถเลื่อนหน้าจอลงไปแบนราบขนานกับฐานเครื่อง ส่งผลให้เครื่องเกือบแบนขนานกับโต๊ะเพื่อใช้ในการวาด และงานศิลปะดิจิตอล เรียกว่า Studio mode หมายความว่า Surface Laptop Studio นั้นจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นหลัก

กำเนิดแฟรงเกนสไตน์

Microsoft Surface Laptop Studio (gsmarena)

แม้การออกแบบในลักษณะนี้อาจดูน่าประทับใจแต่ความเป็นจริงแล้ว ไมโครซอฟท์ ไม่ใช่ค่ายแรกที่พยายามพัฒนารูปแบบการแปลงร่างข้างต้น ยกตัวอย่าง ค่ายเลอโนโว จากประเทศจีน ก็มีผลิตภัณฑ์ภายใต้คอนเซ็ปต์ดังกล่าวมานานแล้ว

อีกเป้าหมายหนึ่งของยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ไฮบริด เป็นการแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าไมโครซอฟท์นั้นสามารถเนรมิตนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการได้เช่นกัน ทว่า ความพยายามเหล่านี้ต้องมาเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบทั้งพฤติกรรมการทำงาน และปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้า ของห่วงโซ่ซัพพลาย

Designing during a pandemic

ทีมพัฒนา Surface Laptop Studio ระบุว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประสานงานกันแบบตัวต่อตัวได้ จึงต้องนำเครื่องต้นแบบเหล่านี้ไปวางไว้ให้เพื่อนร่วมทีมแต่ละคนที่หน้าบ้านหลังทำความสะอาดฆ่าเชื้อเสร็จ เพื่อให้นำไปทดสอบใช้งาน

นางแองเจลา เคราสคอป์ฟ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม กล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุดเป็นสายการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ของไมโครซอฟท์อยู่ที่โรงงานในจีน แต่ช่วงการระบาดไม่สามารถเดินทางได้ จึงต้องนำเทคโนโลยีอย่างแว่นตา mixed reality (แว่น VR และ AR) มาใช้สื่อสารกันแทน ทำให้ผ่านมาได้

เคราสคอป์ฟ ระบุว่า เป้าหมายของการสร้าง Surface Laptop Studio คือ การนำประสิทธิภาพระดับคอมพิวเตอร์พีซีลงมาไว้ในโน้ตบุ๊กที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ขณะที่ชิ้นส่วนประกอบนั้นทางทีมออกแบบใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการจัดการกับรายละเอียด

นอกจากนี้ ปากกา Surface Slim Pen รุ่นสอง ที่ใช้กับ Surface Laptop Studio ยังได้รับการออกแบบใหม่ให้เก็บไว้ใต้แป้นพิมพ์ได้ และชาร์จพลังงานได้รวดเร็ว รวมทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนจำลองให้รู้สึกเหมือนกับกำลังใช้ดินสอบนกระดาษ หรือแล้วแต่โหมดที่ใช้

Surface Laptop Studio ยังใช้ระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ 11 ซึ่งเป็นโอเอสรุ่นใหม่ล่าสุดครั้งแรกในรอบ 6 ปี ได้รับการออกแบบอินเตอร์เฟซใหม่ถอดด้าม ฟีเจอร์ใหม่ และระบบผสานการทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เช่น นิวส์ฟีด

นายปานอส ปาเนย์ หัวหน้าส่วนงานผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า Surface Laptop Studio เป็นผลงานจากการพัฒนานานหลายปี นอกเหนือจากปัญหาโรคระบาดแล้วยังรวมถึงความอดทนมุ่งมั่นของทีมงานที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

นายปาเนย์ ระบุว่า แม้เครื่องจะวางจำหน่ายวันที่ 5 ต.ค.นี้ แต่ปัญหาเรื่องห่วงโซ่ซัพพลายนั้นยังมีอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขแทบทุกวัน นอกจากกลัวว่าจะขายไม่ออกแล้วยังต้องกลัวว่าจะขายดีเกินไปด้วย เพราะอาจจะผลิตไม่ทัน

The new Surface lineup จาก MicrosoftEvent 2021

สำหรับผลิตภัณฑ์ตระกูล Surface ที่จะเปิดตัวพร้อมกับวินโดวส์ 11 ได้แก่ แท็บเล็ต The Surface Pro 8 สนนราคาที่ 1,099 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36,000 บาท มีความไวการประมวลผลมากกว่ารุ่นก่อนเป็น 2 เท่า จอที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ Thunderbolt port 4 จุด

ถัดมาเป็น The Surface Go 3 สนนราคาที่ 399 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13,000 บาท เป็นแท็บเล็ตระดับเริ่มต้น ที่มีหน่วยประมวลผลที่ไวขึ้น และระยะเวลาแบตเตอรี่ที่นานขึ้น สามารถเลือกได้เป็นรุ่น Wi-Fi only หรือ LTE

The Surface Pro X สนนราคาที่ 899 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นบาท และ Surface Duo 2 สมาร์ตโฟน 5G แบบพับได้ ที่ได้รับการอัพเกรดชิพประมวลผล และกล้องถ่ายภาพมาใหม่

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่าง Surface adapter kit (ยังไม่เปิดเผยราคา) ที่ช่วยให้บุคคลทุพพลภาพสามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ตระกูล Surface ได้ง่ายขึ้นด้วย

รายงานระบุว่า ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์แม้จะยังเป็นรองค่ายแอปเปิ้ลอยู่หลายด้าน แต่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นายจ๊อฟฟ์ เบลเบอร์ ซีอีโอของบริษัทการตลาด CSS Insight กล่าวว่า นวัตกรรมจากไมโครซอฟท์อย่างแป้นพิมพ์ถอดได้ หน้าจอ ผลติภัณฑ์แปลงร่าง สร้างตลาดใหม่ที่ทำให้เกิดผู้เล่นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ดี นายเบลเบอร์ มองว่า ความท้าทายหลักของไมโครซอฟท์เป็นการนำตัวเองออกจากตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์และทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า ผลิตภัณฑ์จากไมโครซอฟท์นั้นมีมากกว่าเรื่องการทำงาน

ล่าสุด แม้พนักงานของสำนักงานไมโครซอฟท์กำลังได้รับการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ไมโครซอฟท์ประกาศเลื่อนการกลับเข้าทำงานในสำนักงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมการทำงานในสำนักงานของไมโครซอฟท์นั้นแตกต่างจากแอปเปิ้ลโดยสิ้นเชิงซึ่งทำงานอย่างเป็นความลับสุดยอดระดับที่แต่ละแผนกไม่สามารถทราบได้ว่าอีกแผนกกำลังทำอะไร แต่ที่ไมโครซอฟท์นั้นเป็นลานกว้าง ที่ทุกแผนกนั่งกระทบไหล่กัน

สาเหตุที่ทางไมโครซอฟท์ออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานดังกล่าวเพราะต้องการส่งเสริมให้เกิดการประสานงานกันระหว่างแผนก เช่น พนักงานต้นคิด นั่งติดกับฝ่ายช่างโลหะ ช่างสี และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอีกกว่า 20 รูปแบบ

นายพีท ไคเรียคู รองประธานฝ่ายบริหารของไมโครซอฟท์ ระบุว่า หากพนักงานเกิดไอเดียขึ้นมาก็สามารถเขียนแบบนำไปให้ฝ่ายผลิตอย่างช่างโลหะผลิตได้ทันที แล้วก็นำไปให้ฝ่ายช่างสี วันต่อมาก็สามารถมานั่งหารือกันได้ พร้อมตัวอย่างไอเดีย และตัวทดสอบ

ขณะที่นายปาเนย์ ยืนยันว่า ความร่วมมือประสานงานกันแบบนี้เป็นหัวใจหลักของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ Surface แม้จะมีหลายฝ่ายที่มักกล่าวว่าอุตสาหกรรมไอทีมาถึงทางตันแล้วก็ตาม

“ทุกยุคทุกสมัยก็มีคนพูดแบบนั้นแหละครับ เพราะยังมีสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือคิดไม่ออก ผมว่าการที่เรามองว่ามันตัน บางทีก็หมายความว่านั่นแหละครับประตูที่จะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่” ปาเนย์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน