หลังจากกระท่อม มีการปลดจากสถานะยาเสพติดให้โทษ มาเป็นพืชที่สามารถปลูก เพื่อการบริโภคและขายได้ทั่วไป ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ประชาชนซื้อ-จำหน่ายใบกระท่อมเป็นจำนวนมาก

นอกจากจะมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร แก้ท้องเสีย ท้องร่วง โรคบิดบรรเทาอาการไอ รวมไปถึงช่วยให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น ยังบรรเทาอาการปวดและต้านอักเสบ เพราะมีสารไมทราไจนีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การได้รับกระท่อมมากเกินไปหรือทานไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดโทษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะขอนำเสนอ 7 สัญญาณอันตรายของผลข้างเคียง เมื่อบริโภคกระท่อมไม่ถูกวิธีและเกินขนาด ดังนี้

1. ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมปริมาณมากติดต่อกัน หรือใช้ในขณะที่ท้องว่าง ได้แก่ คลื่นไส้, มึนงง, กระสับกระส่าย, เวียนศีรษะ, แขนขาอ่อนแรง, ตัวสั่น, ตาลาย, หูอื้อ รวมไปถึงปวดปัสสาวะอุจจาระแต่ไม่ถ่าย

อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 5-10 นาที โดยมีวิธีการรักษาอาการดังกล่าวเบื้องต้น เช่น นั่งหรือนอนพัก, ทำงานให้เหงื่อออก, อาบน้ำเย็น, ดื่มน้ำเย็น, กินผลไม้เปรี้ยว หรือกินอาหาร เป็นต้น


2. ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ หลังจากเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5 – 10 นาที จะเริ่มมีอาการเป็นสุข
กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว ทำให้หัวใจทำงานสูบฉีดเลือดผิดปกติ

3. ผิวหนังแดง เพราะร่างกายจะนำเลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น

4.เกิดอาการเซื่องซึม เนื่องจากสารไมทราไจนีน มีทั้งคุณและโทษ โดยมีฤทธิ์ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ กล่าวว่า กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท

5. อาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่ อ.พญ. สุทธิมน ธรรมเตโช กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

6. โรคหัวใจห้ามทานกระท่อม เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะทำให้ไม่เหนื่อยจนเป็นสาเหตุให้หัวใจหยุดทำงานโดยไม่รู้ตัว

7. เกิดการเสพติด รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า กระท่อมเป็นยาไม่ใช่อาหาร ไม่ควรทานเกินวันละ 5 ใบหรือใช้ปริมาณมากเกินกว่า 10 – 25 กรัม หากทานใบกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการหลอน, เคลิ้มฝัน, มึนงง, เหงื่อออก, ทนต่อความหนาวไม่ได้ และเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ

นอกจากนี้ การทานน้ำผสม 4×100 หรือกระท่อมผสมน้ำอัดลมที่มีความหวานจะมีโอกาสติดสูง เพราะจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว หากพบอาการเบื่ออาหาร ทำงานได้มากเกินปกติ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย ตื่นเต้น อาจเสี่ยงต่อการติดใบกระท่อม

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ แนะนำวิธีการทานใบกระท่อมที่ถูกต้อง ดังนี้

1. ทานสด เริ่มจากรูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วน ๆ จากนั้นเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ของสารไมทราไจนีนออกมา

ต่อมาให้คายทิ้ง เพราะหากกลืนกากอาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าถุงท่อม ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในลำไส้และร่างกายไม่สามารถย่อยได้จนมีอาการปวดท้อง

2. ต้มเพื่อทำน้ำกระท่อม ซึ่งก่อนนำมากรองเพื่อเอากากใบกระท่อมออกจากน้ำ แพทย์แนะนำให้บีบมะนาวลงไป เพราะแอลคาลอยด์ในกระท่อม จะกลายเป็นเกลือและสามารถละลายน้ำได้

ทางทีมข่าวสดขอสรุปว่า กระท่อมมีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรทานเกินวันละ 5 ใบ ทั้งยังควรใช้ให้เป็น และไม่ควรใช้เป็นอาหารพร่ำเพรื่อ

ขอบคุณข้อมูลจาก การวิจัยพืชกระท่อม : ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม/ ใบกระท่อม สรรพคุณทางยา ประโยชน์และโทษ / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / The Coverage

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน