หลังจากที่หนุ่มโพสต์เตือนเรื่องภัยใกล้ตัวน้ำแข็งเสี่ยงโรค หลังเจอสภาพเครื่องผลิตสุดสกปรก ยังมีสิ่งที่ควรระวังนั่นก็คือ การเคี้ยวน้ำแข็ง ที่เสี่ยงฟันหักและเป็นโรคติดน้ำแข็ง

ทันตแพทย์ได้เปิดเผยว่า ไม่ควรกัดหรือเคี้ยวน้ำแข็งด้วยฟัน นอกจากจะเป็นนิสัยเสียและสร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้างแล้ว การเคี้ยวน้ำแข็งอาจทำให้เกิดปัญหามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพจิตได้

แมทธิว คุก รองศาสตราจารย์ด้านทันตแพทยศาสตร์และวิสัญญีวิทยา มหาวิทยาลัย Pittsburgh Health Science กล่าวว่า ผู้ปกครองและผู้ใหญ่มักถามว่าเคี้ยวน้ำแข็งได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

รศ. แมทธิว กล่าวว่า ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นเช่นไร การเคี้ยวน้ำแข็งเป็นนิสัยที่ควรค่าแก่การเลิกและหยุดกระทำ เพราะไม่ดีต่อสุขภาพช่องปาก อาจทำให้เกิดรอยร้าวในสารเคลือบฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันบอบบางมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้ฟันบิ่น, แตกหัก, เกิดรูที่อาจทำให้ฟันผุได้ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดฟันหรือทันตกรรมอื่น ๆ

ผู้ที่อุดฟัน, ครอบฟัน, วีเนียร์, ใส่เหล็กจัดฟัน หรือรีเทนเนอร์ มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายของฟันหากเคี้ยวน้ำแข็ง ซึ่งวิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ตั้งแต่การอุดฟันไปจนถึงการอุดรากฟัน

เมื่อไม่สามารถหยุดทานน้ำแข็งหรือเสพติดการเคี้ยวน้ำแข็งตลอดเวลา อาการแบบนี้เสี่ยงเป็น โรคติดน้ำแข็งเรียกว่า Pagophagia ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพ โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่

สาเหตุของโรคติดน้ำแข็งมาจากความเครียดจากปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และจิตใจ เช่น ความเครียด พฤติกรรมย้ำคิด-ย้ำทำ พัฒนาการผิดปกติในเด็ก จนไปสู่อาการขบเคี้ยวสิ่งต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายตนเอง เช่น เคี้ยวน้ำแข็ง สิ่งสกปรก ฝุ่น กัดเล็บ หรือดึงผม

ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการตั้งครรภ์, โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, ออทิสติก, ความผิดปกติของพัฒนาการทางปัญญา, ภาวะซึมเศร้า, OCD และโรคจิตเภท ตามฮัลโหลคุณหมอรายงาน อาการของโรคติดน้ำแข็งมี ดังนี้

อยากทานน้ำแข็งตลอดเวลา ร่างกายรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง วิงเวียนศีรษะ
ผิวเริ่มซีด เล็บเปราะบาง ใบหน้า ลิ้น บวม
เจ็บหน้าอก หายใจถี่ขึ้น มือ และเท้ารู้สึกชา อาจมีอาการของตะคริวร่วม

รศ.แมทธิวแนะนำวิธีการหยุดกินน้ำแข็ง ซึ่งมีหลากหลายวิธี ดังนี้

1. อมน้ำแข็งแทนเคี้ยว การอมน้ำแข็งพร้อมปล่อยให้ละลายตามธรรมชาติ ความรู้สึกเย็นและความสดชื่นจะคงอยู่นานยิ่งขึ้นและไม่ทำลายสุขภาพฟันหรือเหงือก

2. เลือกชนิดน้ำแข็ง การเปลี่ยนจากก้อนน้ำแข็งเป็นน้ำแข็งฝอย เช่น น้ำแข็งใส อาจช่วยได้ อย่างไรก็ตาม พยายามจำกัดหรือหลีกเลี่ยงน้ำแข็งใสที่ปรุงแต่ง เพราะมันมีน้ำตาลมาก ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพฟัน

3. หยุดบริโภคน้ำแข็ง หากน้ำแข็งเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจขณะที่มองแก้วน้ำ ลองเลิกทานน้ำใส่น้ำแข็ง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อฟันและหลีกเลี่ยงแบคทีเรียที่ตกค้างในเครื่องทำน้ำแข็ง

4. ทานสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น แครอท ส้ม กีวี่ ถั่ว แอปเปิ้ลหั่นแว่น หรือผักและผลไม้อื่น ๆ สามารถช่วยสนองความอยากที่จะเคี้ยวน้ำแข็งได้ อีกทั้งยังกระตุ้นการไหลของน้ำลายที่จะช่วยปกป้องปากอีกด้วย

ขอบคุณที่มาจาก The Sun Hellokhunkmor

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน