น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ได้ยินมาว่าดอกพิกุลมีสรรพคุณรักษาโรคด้วย ใกล้บ้านมีหลายต้นเลย หอมมาก

กุ้งหวาน

ตอบ กุ้งหวาน

พิกุล ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi หรือชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แก้ว (ภาคเหนือ), ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), กุน (ภาคใต้), ตันหยง, มะเมา, พกุล, พิกุลทอง

เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และหมู่เกาะอันดามัน จัดเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ต้นสูงประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดการตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี แสงแดดจัด ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน

มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่างๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาว 4-6 เซนติเมตร

พิกุลออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 2-6 ดอก ตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย

กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล ออกดอกได้ตลอดปี

ส่วนผลพิกุล ลักษณะรูปไข่ถึงรี ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาด และมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี

รูปพิกุล

เกี่ยวกับสรรพคุณของพิกุล นำคำตอบมาจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ตำรายาไทย ดอก มีกลิ่นหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เข้ายาหอม ยานัตถุ์ แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ผลดิบและเปลือก ฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย, เปลือกต้น รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้เหงือกอักเสบ, ใบ รสเบื่อฝาด แก้กามโรค แก้หืด ฆ่าพยาธิ

เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก, ราก มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม, แก่น มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต ยาแก้ไข้,

ขอนดอก (เป็นเครื่องยาไทย อาจได้จากต้นพิกุลหรือตะแบกต้นแก่ๆ มีเชื้อราเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ แต่โบราณว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่า) มีกลิ่นหอม รสจืด มีสรรพคุณบำรุงตับ ปอด และหัวใจ บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา) ทำให้หัวใจชุ่มชื่น

ยังมีข้อมูลจากเว็บไซต์ medthai.com ระบุว่า ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยแก้ลมกองละเอียด และช่วยบำรุงครรภ์ หรือจะใช้เข้ายาผสมกับดอกไม้ชนิดอื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงาก็ได้

นอกจากนี้ ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจตุทิพยคันธา” (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง) เป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก และแก้เสมหะ ทั้งนี้ดอกพิกุลจัดอยู่ใน “ตำรับยาเขียวหอม” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด และแก้พิษสุกใส

รวมถึงดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยแก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ ช่วยแก้ลมปลายไข้ (มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด ซึ่งเป็นอาการหลังจากการฟื้นไข้)

และดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “ยาหอมเทพจิตร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน