คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

อยากรู้เรื่องโครง การแก้มลิง รายละเอียดโครงการพระราชดำรินี้เป็นอย่างไร

การณ์

ตอบ การณ์

โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นทฤษฎีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood management) โดยสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ “แก้มลิง” เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก
2
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

โครงการแก้มลิงคือการจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นบึงพักน้ำในหน้าน้ำ อันเปรียบได้กับแก้มลิง ที่เก็บน้ำเหล่านั้นจะทำหน้าที่รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ

ฉะนั้นยามฝนตก น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะถูกขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ รอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้เสียก่อน จึงค่อยๆ ระบายน้ำลง เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ แนวพระราชดำริแก้มลิงยังผสานแนวคิดอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะเข้าไปเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองให้จางลง แล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อไป
3
วิธีการดำเนินการโครงการแก้มลิง 1.ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่คือแก้มลิงต่อไป 2.เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ให้ระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ

3.สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิงให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง 4.เมื่อระดับ น้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกัน มิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)
4
หลักการ 3 ข้อที่โครงการแก้มลิงจะมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จ คือ 1.การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ

2.เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ

และ 3.การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง จากหลักการ 3 ข้อ การสนองพระราชดำริจึงดำเนินการพิจารณาจากการใช้ลำคลองหนองบึงธรรมชาติหรือพื้นที่ว่างเปล่า นำมาเป็นบ่อพักน้ำหรือแหล่งน้ำที่จะนำน้ำเข้าและระบายน้ำออกตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ยกตัวอย่างโครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำในพื้นที่นับตั้งแต่ จ.สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มาตามคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้าน จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือรับน้ำ และพิจารณาหนองบึงหรือพื้นที่ว่างเปล่าตามความเหมาะสมเป็นบ่อพักน้ำเพิ่มเติม

โดยใช้คลองธรรมชาติในแนวเหนือ-ใต้ เช่น คลองพระองค์ไชยนุชิต คลองบางปลา คลองด่าน คลองบางปิ้ง คลองตำหรุ คลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้าและออกจากบ่อพักน้ำ และโครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำในพื้นที่นับ ตั้งแต่ จ.อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพ มหานคร และสมุทรสาคร ไปคลองมหาชัย-สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้าน จ.สมุทรสาคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน