‘ลุงเชือน ชัยพร้อม’ปลื้ม – อีกไม่กี่วัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จะครบรอบก่อตั้ง 60 ปีในเดือนม.ค. 2565 ในโอกาสนี้ นายชัยณรงค์ เปาอินทร์ รองผู้อำนวยการอ.ส.ค. จึงได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมฟาร์มเครือข่ายสหกรณ์ ผู้เลี้ยงโคนมของอ.ส.ค. และร้านไทย-เดนมาร์ค มิลค์ แลนด์ (Thai-Denmark Milk Land) สาขาชะอำ จ.เพชรบุรี

พร้อมตอกย้ำโยเกิร์ตพร้อมดื่มยูเอชที ตราไทย-เดนมาร์คทั้ง 4 รสชาติ ได้แก่ รสส้ม รสสับปะรด รสเลมอน และรสสตรอว์เบอร์รี่ อันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของอ.ส.ค. ที่มุ่งวางเป้าหมายทางการตลาดเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ต้องการเครื่องดื่มที่เพิ่มความสดชื่น

นายชัยณรงค์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภายใต้เครือข่ายทั่วประเทศจำนวน 4,600 ฟาร์ม จากฟาร์มโคนมที่มีทั่วประเทศ 19,200 แห่ง รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเฉลี่ย วันละ 700 ตัน ปีนี้อ.ส.ค.ทำยอดขายผลิตภัณฑ์นมทั้งนมโรงเรียนและนมพาณิชย์ประมาณ 9,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศ

สำหรับปี 2565 วางยอดขายไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และจะขยายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา และเตรียมการจะไปขายที่จีนด้วย พร้อมกันนี้จะรุกตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมายอดขายนมจืด และนมหวาน ยูเอชทีของไทย-เดนมาร์ค อยู่อันดับหนึ่งในตลาด ปีหน้ามีโครงการจะพัฒนานมอัดเม็ด และทำโรงงานนมผง เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในพื้นที่ 194 ไร่ กำลังทำเอกสารเพื่องบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพราะต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท

สาเหตุที่ต้องตั้งโรงงานใหม่เพราะโรงงานที่มีอยู่เดิมใน จ.เชียงใหม่ และ จ.สุโขทัย เป็นโรงงานขนาดเล็ก ไม่เพียงพอในการผลิตกรณีน้ำนมดิบล้นตลาด นอกจากนี้จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคนมครบวงจรด้วย ซึ่งการเลี้ยงโคนมถือเป็นอาชีพที่มั่นคงมากที่สุด เพราะรู้ราคาขาย โดยขายน้ำนมดิบก.ก.ละ 17-19 บาท

ผู้บริหาร อ.ส.ค.ยืนยันการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคง

ทีนี้มาฟังเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงกันดีกว่า

ลุงเชือน ชัยพร้อม วัย 73 ปี เจ้าของสำราญฟาร์ม อยู่ที่หมู่ 4 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีที่ดินทำกิน 50 ไร่ แต่ก่อนปลูกอ้อย-ปลูกมัน ทำไร่สับปะรด แต่ขาดทุนเพราะราคาไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ อย่างสับปะรดขายได้ก.ก.ละ 5-7 บาท เลยเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงโคขุนแทน แต่ก็ไม่ดี ช่วงปี 2542 จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงโคนมดีกว่าเพราะใช้เวลาเพียง 15 วันก็รู้รายได้แล้วว่าจะดีหรือไม่ เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและมีรายได้ทุกวัน โดยแบ่งพื้นที่เลี้ยงทำคอกเพียง 5 ไร่ นอกนั้นปลูกหญ้ารูซี่ แต่ก็ไม่พอ หลังหมดฝนต้องซื้อฟางให้วัวกิน

ที่สำคัญเป็นโครงการในพระราชดำริ เกษตรกรหลายคนมาดูเลยเลี้ยงโคนมตาม ตอนนี้มีวัวทั้งหมด 120 ตัว มีชื่อทุกตัว ที่รีดนมได้มี 65 ตัว รีดน้ำนมดิบได้วันละ 700 ก.ก. ถือว่ายังไม่ค่อยดีนัก เคยรีดได้ถึงวันละ 1 ตัน ขายได้ก.ก.ละ 17.50 บาท แต่ช่วงนี้ต้องหักเงินให้สหกรณ์ชะอำ-ห้วยทราย จำกัด ก.ก.ละ 50 สตางค์ เพื่อพยุงฐานะทางการเงินของสหกรณ์ให้คล่องตัว

แม้จะมีรายได้เยอะ แต่ต้องจ่ายเงินเดือนให้คนงาน 2 คน คนละ 10,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งมีรายได้ 3-4 แสนบาท สรุปแล้วมีต้นทุนในการจัดการฟาร์มประมาณ 60-70% ของรายได้

สำหรับชื่อเสียงเรียงนามของแม่วัวเหล่านี้ ล้วนชื่อเพราะๆ ทั้งนั้น อย่างเช่น น้ำฝน ดาวเรือง บัวขาว โสภา มะลิ ลินดา โอเล่ กิ่งแก้ว ลูกปลา เพ็ญ ปูเป้ กรณ์ ทราย และ พลอย ฯลฯ

ฟาร์มสำราญของลุงเชือนถือว่าเป็นฟาร์มขนาดกลาง มีเครื่องมืออุปการณ์การรีดนมที่ทันสมัย ได้เครื่องหมาย GAP ให้วัวกินอาหารวันละ 2 มื้อ เช้ากับเย็น อาหารที่ให้มีทั้งอาหารอัดเม็ด และอาหารหยาบที่เป็นพวกหญ้าเนเปียหมักและสับปะรดแห้ง ขณะที่ให้อาหารนั้นก็รีดนมไปด้วย โดยใช้เครื่องรีดนมทันสมัย

ก่อนรีดทำความสะอาดเต้านมก่อน จากนั้นใช้น้ำยาเทสต์น้ำนมดิบว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งการรีดนมช่วงเช้าจะให้น้ำนมมากกว่าช่วงเย็น และในหน้าหนาวจะได้น้ำนมดิบปริมาณมากกว่าหน้าร้อน

ช่วงก่อนรีดนมราวบ่าย 2-3 โมง เหล่า แม่วัว ‘สาว-แก่’ ทั้งหลายดูเหมือนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง ต่างมายืนรอตรงหน้าประตู พอคนเลี้ยงเรียกชื่อไล่ให้เข้าคอกรีดนม พวกมันต่างเดินเข้าไปแต่โดยดี จากนั้นกินหญ้าอย่างเอร็ดอร่อย ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

ลุงเชือนอธิบายว่า การเลี้ยงวัวนมต้องเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด อย่างตนเองไม่เคยไปไหนเลย วันๆ อยู่กับวัวตลอด ให้เวลาเหมือนดูลูกเล็ก ต้องรู้ว่าวัวตัวไหนป่วย ซึมเศร้า กินหญ้าได้น้อย จะได้ให้หมอมาตรวจ อย่างกลางปีที่ผ่านมาเจอปัญหาโรคลัมปีสกิน พอรู้ว่า ตัวไหนเป็นก็รีบให้หมอรักษาฉีดยาให้ ดีที่ว่าไม่เกิดการระบาดในฟาร์ม

สำหรับใครที่อยากทำฟาร์มเลี้ยงวัวนม ลุงเชือนแนะนำว่า ควรมีที่ดิน 10 กว่าไร่ และมีเงินประมาณ 2 ล้านบาท จะได้ฟาร์มเล็กๆ ฟาร์มหนึ่ง เพราะแม่วัวตัวหนึ่งราคาหลายหมื่น อีกทั้งจะต้องมีเวลาดูแลใกล้ชิด ที่สำคัญต้องอยู่ไม่ไกลจากแหล่งรับซื้อนมดิบ ไม่เกิน 50 ก.ม.

วันนี้ลุงเชือนมีความสุขกับการเลี้ยงวัวนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีตลาดรองรับแน่นอน ไม่ต้องเจอปัญหาราคาขายผลผลิตขึ้นๆ ลงๆ เหมือนการปลูกพืชไร่ทั่วไป เจ้าตัวลั่นไว้ว่าแม้จะอายุ 73 ปีแล้ว แต่จะเลี้ยงวัวต่อไปจะไม่ปลดระวาง ตราบเท่าที่ยังมีแรง

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน