อ่านเล่มใหม่3สายจาก‘สนพ.มติชน’

บุ๊กสโตร์

ไม่ขาดสาย หนังสือใหม่จาก “สำนักพิมพ์มติชน” www. matichonbook.com เสนอสู่ผู้อ่าน สำหรับ3 เล่ม สัปดาห์นี้ บอกเล่ามิติประวัติศาสตร์การเมือง มานุษยวิทยา และ ชาติพันธุ์วรรณา

…ตรวจสอบที่มาของความ “เชื่องเชื่อ” ของตัวเอง ผ่าน “ความทรงจำใต้อำนาจ : รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน” ผลงานของ ชนาวุธ บริรักษ์ ตีแผ่กลไกเบื้องหลังการสร้างวันสำคัญในไทยที่เกิดขึ้นมานาน นับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านแนวคิดเรื่องเวลาจากจันทรคติสู่สุริยคติ จนถึงทศวรรษ 2520-2540 ช่วงเวลาแห่งการเพิ่มขึ้นของวันสำคัญและเกิดสำนึกความทรงจำแบบมวลชนเข้าไปท้าทายสำนึกความทรงจำของรัฐที่ยึดโยงกับสถาบันหลักของชาติไทย

วันสำคัญ จึงมิใช่เพียงวาระแห่งการรำลึกถึงอดีตหรือมีไว้เพื่อการเฉลิมฉลองเท่านั้น ทว่า ยังสัมพันธ์กับสำนึกความทรงจำของพลเมืองให้สยบยอมและเชื่องเชื่ออยู่ภายใต้อำนาจที่คอยบงการชีวิตผู้คนอยู่ตลอดเวลา

“วันสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520-2540 สะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองและจัดความสัมพันธ์ในบริบทที่สังคมรัฐไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น พร้อมกันนั้นยังเป็นการควบคุม “สำนึกความทรงจำ” ของผู้คนในสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในสังคม โดยประเด็นสำคัญของการสร้างสำนึกความทรงจำของพลเมืองผ่านวันสำคัญที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คือการสร้างความหมายต่อสำนึกความทรงจำของพลเมืองไทยให้กลายเป็น “คนของสถาบันพระมหากษัตริย์” และจะมีสำนึกความทรงจำที่ “ความหมายของชีวิตตนนั้นจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปสัมพันธ์อยู่ในทุกๆ ด้าน”

“Thai Culture and Behavior วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย” ผลงาน รูธ เบเนดิกต์ ผู้ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในแวดวงมานุษยวิทยา แต่ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้มีคุณูปการของวงการสังคมศาสตร์ และนี่คือหนังสือที่นับได้ว่าเป็น “เล่มแรก” ที่มีการศึกษาสังคมและพฤติกรรมชาวไทยอย่างเป็นระบบผ่านมุมมองของชาติเจ้าอาณานิคม ในฐานะ เครื่องมือทางการทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา

มุ่งศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เรื่อยมากระทั่งช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เพื่อสำนักงานข่าวสารสงครามรัฐบาลอเมริกัน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิเคราะห์วิจัยประเทศศัตรูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาก็กลายมาเป็นงานทางมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประเทศไทย

ดังที่ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ชี้ไว้ในบทกล่าวนำ “หนังสือของรูธ เบเนดิกต์ เล่มนี้ก็เป็นผลิตผลชิ้นหนึ่งของงานในระหว่างสงครามของสำนักงานข่าวสารสงครามของรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู โดยเขียนขึ้นแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 จึงถือได้ว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประเทศไทยเล่มแรก”

สนพ.มติชนชวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห้องทำงานของนักวิชาการโพ้นทะเล แล้วสอดส่องสังคมไทยในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยแว่นตาของคนนอกไปพร้อมกัน

“คนไทยใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน การต้อนรับขับสู้ที่คนไทยมอบแก่คนต่างถิ่นนั้นไร้ซึ่งเจตนาร้ายและเปี่ยมด้วยเมตตาจิต คนไทยแทบจะไม่กังวลกับความยุ่งยากใด และมักใช้ชีวิตโดยประมาทด้วยความสุข”

“A Passage to India สู่แดนภารตะ” วรรณกรรมเล่มสำคัญที่คนทั่วโลกรู้จัก โดยมี “ถ้ำมาราบาร์” เป็นใจกลางเรื่องราวรวดร้าวของเชื้อชาติ

นักเขียนผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียช่วงบริติชราช อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ เล่าเรื่องราว ณ ช่วงเวลาขณะจักวรรดิอังกฤษเข้าปกครองอินเดีย อาศิศ เป็นแพทย์หนุ่มมุสลิมที่ได้เข้าสู่แวดวงของชาวอังกฤษ แต่ แล้วการเดินทางที่เขาตั้งใจพาสหายชาวอังกฤษไปเยี่ยมชมหมู่ถ้ำ มาราบาร์ก็นำมาสู่จุดพลิกผันของชีวิต

“หากจะบอกว่ามัน ‘ลึกลับ’ ก็จะฟังดูเหมือนมีภูตผีสิง แต่มันเก่าแก่โบร่ำโบราณกว่าวิญญาณทั้งปวงเสียอีก…กลุ่มถ้ำนี้บรรยายเป็นคำพูดได้ไม่ยาก เป็นอุโมงค์ยาวแปดฟุต สูงห้าฟุต กว้างสามฟุต ทอดเข้าสู่โถงทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราวยี่สิบฟุต…ถ้ำเหล่านี้เป็นถ้ำมืดๆ แม้แต่ปากถ้ำที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ก็ยังมีแสงแทรกผ่าน ปากอุโมงค์ไปสู่โถงทรงกลมได้น้อยมาก แทบไม่มีอะไรให้ดู และไม่มีสายตาใครมองเห็น…แต่ตรงนี้นี่เองคือผิวเนื้อที่เนียนละเอียดยิ่งกว่าผิวหนังของสัตว์ใดๆ ราบเรียบยิ่งกว่าผิวน้ำยามปราศจากลมรำเพย รัญจวนยิ่งกว่าความรัก”

จากความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อยทำให้อาศิศถูกควบคุมตัวโดยทางการอังกฤษ การพิพากษาคดีลุกลามใหญ่โตจนจุดชนวนความโกรธแค้น ก่อร่างสร้างเส้นแบ่งระหว่างคนผิวขาวและคนพื้นเมืองให้ชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหน

การเดินทางในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการไปยังสถานที่ใหม่ แต่เป็นการเดินทางของตัวตนที่ต้องปะทะกับความคิด ความเชื่อ อคติ และความกลัว

พบกันอีกวันอาทิตย์หน้า

ผู้สื่อข่าวหรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน