ชวนไขข้อสงสัย “บางกอก (Bangkok)” ชื่อเรียกของกรุงเทพ มาจากคำว่า “ต้นมะกอก” หรือ “บางเกาะ” กันแน่

กำลังเป็นกระแสให้พูดถึงสำหรับชื่อเรียกของกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ครม.มีมติเห็นชอบตาม ราชบัณฑิตยสภา ให้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงภาษาอังกฤษ จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon”

หลายคนจึงสงสัยว่าทำไมถึงเรียกว่า “บางกอก” ไม่เรียกกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่แรก และที่มาของคำว่าบางกอกนั้นมาจาก “ต้นมะกอก” หรือ “บางเกาะ” กันแน่ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกัน โดยอ้างอิงจากบทความ “บางกอก BANGKOK มาจาก ‘ต้นมะกอก’ หรือ ‘เกาะ'” โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2535

การเรียกชื่อว่าบางกอกมีมาตั้งแต่สมัยใด?

ในบทความกล่าวว่า ก่อนสมัยพระชัยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ดินแดนฝั่ง “กรุงเทพฯ” และ “ธนบุรี” ถือเป็นแผ่นดินเดียวกัน มีชื่อเรียกรวม ๆ กันว่า “บางกอก”

สาเหตุที่บอกว่าเป็นแผ่นดินเดียวกันนั้น เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าไหลลงมาจากทางเหนือวกเข้าคลองบางกอกน้อยแล้วไปออกคลองบางกอกใหญ่ ต่อมาในสมเด็จพระชัยราชาโปรดให้ขุดคลองลัดเพื่อย่นระยะการเดินทาง ตั้งแต่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยไปจรดปากคลองบางกอกใหญ่ การขุดคลองลัดนี้ ทำให้แม่น้ำสายเดิมกลายเป็นคลอง ส่วนคลองที่ขุดใหม่กลายเป็นแม่น้ำ บริเวณผืนแผ่นดินเดียวกันของสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้จึงได้ชื่อเป็นทางการว่า “เมืองธนบุรี”

โดย “ลาลูแบร์” ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้จดบันทึกไว้ว่า พ้นฝั่งทะเลขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นที่ตั้งของ “เมืองบางกอก” เห็นได้ว่าชื่อเรียกบางกอกนั้นแพร่หลายและเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาแต่โบราณ

ขอบคุณที่มา lookandlearn

ทำไมถึงเรียกว่า “บางกอก” ?

หลายคนพยายามอธิบายคำว่า “บางกอก” มาจากเหตุผลที่ว่า หมู่บ้านหรือบริเวณดังกล่าวมีต้นมะกอกอยู่มากจนกลายเป็นสัญลักษณ์ แต่ “นายขจร สุขพานิช” ได้กล่าวถึงชื่อบางกอกเอาไว้ว่า

“แผนที่ของวิศวกร เดอ ลามาร์ (บางแห่งเขียนว่าเดอ ลาแมร์) แสดงสายลำน้ำเจ้าพระยาจากปากน้ำถึงกรุงศรีอยุธยาที่มีปรากฏในหนังสือ LE SIAM ANCIEN หน้า 34 เป็นแผนที่ชัดเจนกว่าที่ปรากฏในที่อื่น แสดงเมืองบางกอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำและใช้คำอธิบายว่า “I. de Bankok” คำย่อ “I.” คงหมายถึง “Ile” [île – กองบก.ออนไลน์] แปลว่า “เกาะ”

ผู้เขียนเคยเห็นเอกสารรัชกาลที่ 1 เขียนบางกอกว่า “บางกอะ” อยู่แห่งหนึ่ง คำว่า “บางกอะ” ดูจะถูกต้องกว่าที่เขียน “บางเกอะ” เสียอีก…แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “บางกอะ” มีความหมายตรงกับ Ile de Bankok ของวิศวกร เดอ ลามาร์ จากคำนี้กลายเป็นบางกอกอย่างไร ก็อธิบายไม่ถูก”

ถ้าหากพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์แล้วจะเห็นว่าบริเวณเมืองธนบุรีมีลักษณะเป็น “เกาะ” จริง ๆ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าอ้อมจากคลองบางกอกน้อยไปออกคลองบางกอกใหญ่อยู่แล้ว และเมื่อมีคลองลัดสมัยสมเด็จพระชัยราชามาตัดระหว่างปากคลองสองแห่งนี้จึงทำให้ดินแดนเมืองธนบุรี เป็นเกาะมีแม่น้ำหรือลำน้ำล้อมรอบ เช่นเดียวกันกับเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา จากชื่อ “บางเกาะ” จึงแผลงหรือพลาดมาเป็น “บางกอก” ได้ง่าย

ขอบคุณที่มา Facebook

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน