กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา ต่อยอดผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ กาแฟดริปคั่วบด ชาดอกกาแฟ สู่ตลาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ ทำยอดขายพุ่งเดือนกว่า 5 หมื่น การันตีสินค้าคุณภาพ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หมู่ที่ 8 บ้านหนองครก ตำบลหนองปรือ อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง นำโดย นางกนกวรรณ คำเนตร และครอบครัว

แต่เดิมประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน บนเนื้อที่ 8 ไร่ แต่ตัดสินใจโค่นยางทิ้งทั้งหมด หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานแทน โดยเฉพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ กาแฟพันธุ์โรบัสต้า เพื่อขายเมล็ดกาแฟคั่วมืออย่างเดียว

ล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จากการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ทำเป็น “กาแฟดริปคั่วบด” และ “ชาดอกกาแฟ” เป็นชาประเภทดอกไม้ ลุยตลาดส่งขายเข้าสู่องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศ ที่มีพนักงานจำนวนมาก รวมทั้งเข้าสู่ตลาดออนไลน์ร้านสะดวกซื้อ ตอบสนองการค้ายุคใหม่ เพียงแค่ใช้มือกดสั่งซื้อทางมือถือ แถมยังรุกตลาดต่างประเทศ

โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุน ยกระดับฝีมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งไม่ต้องมีทุนมาก แต่สามารถพัฒนาฝีมือการค้าได้ เพียงแค่ศึกษาความต้องการของตลาด และพัฒนาไปสู่เป้าหมาย

นางกนกวรรณ คำเนตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎาฯ นำสำรวจสภาพพื้นที่การเก็บดอกกาแฟ เพื่อนำมาทำเป็นชาดอกกาแฟ ซึ่งต้องเก็บให้ได้ตามวันและเวลาที่เหมาะสม ต้องคอยสังเกตดอกเมื่อมี ผึ้ง หรือ ชันโรง ที่เลี้ยงเอาไว้ในสวน มาผสมเกสรในภาคเช้า

ส่วนภาคบ่าย ต้องเร่งเก็บดอกที่สลัดก้านดอก ต้องเป็นช่วงที่ไม่มีฝนตกล้างดอกด้วยเพราะหากมีฝนตกลงมาล้างดอก จะต้องปล่อยทิ้งทั้งหมด เนื่องจากน้ำฝนได้ชะล้างเอาความหอมหวานของดอกกาแฟออกไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ชาดอกกาแฟที่หอมกรุ่น หอมอ่อนๆ เหมือนดอกมะลิ

ส่วนเมล็ดกาแฟ ซึ่งส่วนหนึ่งเก็บได้จากในแปลงที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี และรวบรวมซื้อจากสมาชิกของกลุ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการป้อนตลาด จะถูกนำมาเข้าตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตู้ เพื่อรักษาคุณภาพทั้งของเมล็ดกาแฟ และชาดอกกาแฟให้ ได้ตามที่มีการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยที่มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้

จากนั้นนำเมล็ดกาแฟไปตำด้วยครกตำข้าว ตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนนำไปคั่วมือในกระทะ ให้ได้ความเข้มข้นของกาแฟตามสูตร ทั้งสูตรอ่อน สูตรปานกลาง และสูตรเข้มข้น

จากนั้นนำชั่งน้ำหนักบรรจุไว้ในซอง แต่จะนำเมล็ดกาแฟมาบดเมื่อมีออเดอร์สั่งมา แล้วนำส่งให้ทันที เพื่อให้ลูกค้าเอาไปดริปด้วยตนเอง ซึ่งจะได้กาแฟที่ใหม่ หอมกรุ่น แตกต่างจากการบดทิ้งไว้

นางกนกวรรณ กล่าวว่า การยกระดับทำกาแฟดริปคั่วบด และชาดอกกาแฟ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สบู่กาแฟ ได้รับใบรับรองเมดอินไทยแลนด์ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ทั้งนี้ นับจากวิกฤตโควิด -19 ทางกลุ่มได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเข้าร่วมอบรมกับโครงการภาครัฐ และเอกชน เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การตลาด เพื่อจะได้กระจายสินค้าออกไปกว้างขึ้น

โดยทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งกาแฟดริปคั่วบด ชาดอกกาแฟ และสบู่ จะขายในตลาดออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, Shopee, Lazada , แอพพลิเคชั่นซีเว่นอีเลฟเว่น

นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมโครงการกับ บริษัท SCG และ ร่วมโครงการกับ ปตท. “โครงการชุมชนยิ้มได้” เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นการสนับสนุนและหาช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานทั่วประเทศจำนวนมาก รวมทั้งการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากกรมการค้าระหว่างประเทศ เข้าไปทำตลาดที่ ดูไบ เซี่ยงไฮ้ เนเธอร์แลนด์ และล่าสุดกำลังเตรียมไปทดลองตลาดที่มาเลเซีย

สำหรับกาแฟดริปคั่วบดจะมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ กาแฟดริปคั่วบด ระดับคั่วอ่อน (LIGHT), กาแฟดริปคั่วบด ระดับคั่วกลาง (MEDIUM) และกาแฟดริปคั่วบด ระดับคั่วเข้ม (DARK) ราคาขายปลีกถุงละ 120 บาท ราคาขายส่งถุงละ 100 บาท ต่อซองบรรจุ 250 กรัม

ส่วนชาดอกกาแฟที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไม่มีคาเฟอีน เป็นชาดอกไม้ โดยดอกกาแฟต่อต้นจะได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อปี เมื่อนำไปตากแห้งแล้วจะเหลือเพียงแค่ประมาณ 10% เท่านั้น ส่งขายในราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท ส่วนราคาขายปลีกกล่องละ 120 บาท และราคาส่งกล่องละ 100 บาท สามารถนำไปใส่ถ้วยชงดื่มเพื่อสุขภาพ โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลแต่อย่างใด

ขณะที่สบู่กาแฟ จะขายราคา 3 ก้อน 100 บาท ที่ผ่านมายอดขายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2563 ยอดขายอยู่ที่ 15,000 -25,000 บาทต่อเดือน ส่วนในปี 2564 ยอดขายพุ่งสูงขึ้นเป็น 50,000 บาทต่อเดือน

ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ก “Ratsada Coffee” หรือโทร.(093) 757-4031

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน