ชีวิตวัยเกษียณ หลักบาลานซ์ให้มีความสุข ไม่เหงา ไม่เศร้า จาก รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ไม่เพียงภาครัฐต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยให้เหมาะสม ผู้สูงอายุก็ต้องเตรียมความพร้อมเช่นกัน

การจะเป็นคนวัยเกษียณที่ไม่เหงา ไม่เศร้า ต้องพัฒนาทั้งทางร่างกาย สมอง ความคิด” รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานกรรมการบริหาร รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อดีตรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และหัวหน้าภาควิชาการการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงแง่คิดการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ก่อนเล่าประสบการณ์ตรงในวัย 61 ปี ว่า ตอนอายุ 50 กว่าก็รู้สึกว่าใกล้เกษียณ อีกไม่กี่ปีก็แก่แล้ว แต่พออายุ 60 ก็รู้สึกว่าฉันยังทำอะไรได้หลายอย่าง ยังเดินทางคนเดียวได้ อายุมากขึ้นเดินเหินช้าลงบ้างแต่ไม่ใช่เดี้ยงจนทำอะไรไม่ได้ และยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย

คนเกษียณที่รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงอาจมีปัจจัยเพราะขาดฮอร์โมน ซึ่งต้องไปตรวจเช็ก แต่ที่สำคัญต้องดูแลใจให้ดีด้วย หาที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่เอะอะบ่น เรียกหาลูกหลาน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่าไปเรียกร้องมาก เพราะยิ่งทำคนยิ่งห่าง

ส่วนการดูแลสุขภาพลำดับแรกคือการกิน โชคดีที่ต้นทุนดี คือพ่อแม่ไม่ได้ป่วยมีโรคประจำตัว และครอบครัวปลูกฝังให้รับประทานได้ทุกอย่าง เราจึงไม่ใช่เด็กที่ไม่กินผัก ไม่ชอบรสหวานจัด มันจัด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว วันนี้น้ำหนักยังเท่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย

ไม่ใช่งดแต่กินให้เป็น ไม่หวานกับหวาน ครีมกับครีม ถ้าอายุน้อยๆ กะเพราะไก่ไข่ดาวทานไปเถอะ แต่ถ้าอายุเยอะก็เปลี่ยนมาเป็นไข่ต้มแทน แกงเขียวหวานก็ทานได้แต่ไม่ใช่ราดน้ำแกงโชกๆ ซดกะทิเรียบ
เมื่อมีเวลาว่าง

ดอกเตอร์ยังชอบทำอาหารจานด่วนสูตรเพื่อสุขภาพไว้รับประทานเอง เป็นเมนูง่ายๆ ไวๆ ไม่หนักแป้ง ไม่หวาน ไม่กินอาหารที่มีไขมันทรานส์ ที่ทำโชว์คือเมนู ตอร์ติยา (แป้งโฮลวีท) โรลล์ ไส้หมูแยมส้ม แปลงแป้งเป็นโฮลวีท ใช้หมูไม่มีมัน แยมส้มที่มีน้ำตาลน้อย

ส่วนการออกกำลังกาย ดอกเตอร์แนะว่า ต้องดีไอวายให้เป็น ไม่ต้องเน้นอุปกรณ์ ไม่ต้องของแพง ไม่ต้องไปฟิตเนส แต่เข้าถึงแก่นของการออกกำลังกาย อย่าอ้างไม่มีเวลา อยู่ออฟฟิศก็ลุกเดินได้ ส่วนตัวชอบว่ายน้ำแต่ช่วงโควิดเพลาๆลง หันมาเดินครั้งละ 45 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

งานบ้านก็ถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่ดอกเตอร์ล้างรถเอง ท่อน้ำในบ้านตันก็อาศัยเปิดยูทูบทะลวงท่อเอง ทำสวน ถอนหญ้า

ขณะเดียวกัน วัยนี้ปัญหาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บก็ต้องระวัง ดร.สิริยุพา กล่าวว่า ช่วงหลังมาทำงานที่โรงพยาบาลได้ใกล้ชิดหมอ พยาบาล เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่างการตรวจสุขภาพแบบองค์รวม เปรียบเหมือนการตรวจเช็กสัญญาณทางร่างกาย ทำให้ประเมินตัวเองได้รวดเร็ว

เช่น เมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนแปรปรวน หรือมีน้อยลง ส่งผลให้มีปัญหาทางสุขภาพได้เยอะมาก เบื้องต้นคือความเครียด ทำให้ร่างกายหมดแรง ผิวแห้ง ผมร่วง หรืออาการหูตึงที่เรามองว่าเป็นอาการของคนแก่ แต่การไม่ได้ยินเสียงนานๆ ทำให้ระบบประสาทการรับรู้เสื่อม นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

นอกจากดูแลตัวเองตามที่กล่าว ดร.ศิริยุพา ยังแนะนำให้หาความสุข “ส่วนตัวชอบดูหนัง ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว มีเพื่อนหลากหลายกลุ่ม เป็นคนเวิร์กฮาร์ท เพลย์ฮาร์ท ชอบดริ๊งก์แต่ดริ๊งก์อย่างมีสติ

ที่ชอบมากคือการเสพข่าวสาร ทนไม่ได้ที่จะไม่รู้เรื่องอะไร การเป็นนักวิชาการด้านบริหารจัดการ บังคับเราต้องฟังข่าว ทั้งทางวิทยุ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ”

ส่วนเรื่องที่อยากฝากคนวัยเกษียณพ.ศ.นี้ ดอกเตอร์กล่าวว่า ตราบใดยังมีลมหายใจ โลกเปลี่ยนเราต้องติดตาม บางคนปฏิเสธเทคโนโลยี สมาร์ทการ์ด มือถือ ไลน์ โอนเงินทางแอพฯ การใช้ชีวิตก็ลำบาก เราต้องพึ่งคนเองได้มากที่สุด คงไม่ถึงกับไปเล่นติ๊กต๊อก

มีจิตใจสู้ มองบวก คนที่ลำบากและอยู่ในสภาพที่แย่กว่าเรามีอีกเยอะ ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า มีความสุขกับเรื่องรอบข้าง ความสุขหาได้ง่าย ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองตรงไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน