คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

ชอบหอยขมโดยเฉพาะแกงคั่ว อยากรู้ว่าเลี้ยงได้ไหม

อั๋น

ตอบ อั๋น

หอยขม (Pond snail, Marsh snail, River snail) ชื่อวิทยาศาสตร์ Filopaludina อยู่ในไฟลัม Mollusca กลุ่มหอยฝาเดียว วงศ์ Viviparidae เป็นหอยฝาเดียว มีขนาดเล็ก เปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด ตัวผู้มีหนวดเส้นข้างขวาพองโต กว่าเส้นข้างซ้าย ลักษณะพิเศษของหอยชนิดนี้คือมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองเมื่ออายุได้ 60 วัน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ๆ มีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตก เพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่ จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม เนื้อหอยขมนิยมนำมาทำอาหารประเภทแกง หรือที่มีขนาดเล็กมากก็ใช้เป็นอาหารเป็ดและสัตว์อื่นๆ

หอยขมอาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่น คู คลอง หนอง บึง ที่น้ำไม่ไหลแรงและเป็นน้ำนิ่ง มีระดับความลึกตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร มักเกาะอยู่กับพันธุ์ไม้น้ำ เสาหลัก ตอไม้ หรือตามพื้นในที่ร่ม กินอาหารพวกสาหร่ายและอินทรีย์สาร ใบไม้ใบหญ้าผุๆ ในน้ำ รวมทั้งซากอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยและผงตะกอนที่จมอยู่ตามผิวดิน

จะเลี้ยงหอยขมก็เลี้ยงได้หลายแบบเพราะมันเลี้ยงง่าย โตเร็วและแพร่พันธุ์ได้เอง ที่นิยมคือเลี้ยงในกระชัง นิยมใช้กระชังไนลอนชนิดตาถี่ ทำเป็นรูปกระชังขนาด 3×6 เมตร สูง 120 เซนติเมตร นำกระชังไปผูกในแหล่งน้ำด้วยการให้มุมล่างและมุมบนของกระชังทั้งสี่ด้านยึดติดกับเสา 4 ต้น หรือเพิ่มตรงกลางตามความยาวของกระชังอีกด้านละต้นรวมเป็น 6 ต้น ขอบบนของกระชังอยู่เหนือระดับน้ำ 20-30 เซนติเมตร อย่าให้ก้นกระชังติดพื้นดิน เพราะจะทำให้ก้นกระชังจมโคลน เมื่อผูกกระชังเรียบร้อยแล้วใส่ทางมะพร้าวสดขนาดยาว 1 เมตร ลงไป 2-3 ทาง พยายามอย่าให้ทางมะพร้าวทับกัน และควรผูกไว้เพื่อไม่ให้ทางมะพร้าวทับก้นกระชังอาจฉีกขาดได้

ใส่หอยขมขนาดใหญ่ หรือขนาดโตที่ใช้รับประทานโดยทั่วไป ลงไป 2 กิโลกรัมต่อกระชัง โดยคัดเลือกหอยขมที่ยังสด สังเกตได้โดยนำหอยขมไปแช่น้ำทิ้งไว้ ถ้าหอยขมคว่ำตัวติดกับภาชนะแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ หลังจากใส่หอยขมแล้ว วันที่สองยกทางมะพร้าวขึ้นดูจะพบหอยขมเล็กๆ เกาะอยู่ตามทางมะพร้าว ทางมะพร้าวที่แช่น้ำนานๆ จะเน่าเปื่อยผุพัง จึงควรเปลี่ยนใหม่เดือนละ 2 ครั้ง หอยขมที่เลี้ยงในกระชังจะเกาะกินตะไคร่น้ำและซากเน่าเปื่อยอยู่ตามทางมะพร้าว ตลอดจนบริเวณด้านข้างและก้นกระชัง โดยไม่ต้องให้อาหารเสริมแต่อย่างใด หลังจาก 2 เดือนจึงทยอยคัดเลือกเก็บตัวใหญ่ขึ้นมารับประทานหรือจำหน่ายเพื่อไม่ให้หอยขมอยู่กันหนาแน่นเกินไป จะทำให้หอยขมเจริญเติบโตช้า

ยังมีการเลี้ยงหอยขมในร่องสวน เริ่มจากปล่อยพันธุ์หอยขมขนาดประมาณ 60 ตัว ต่อกิโลกรัม จำนวน 2 กิโลกรัม โดยตัดทางมะพร้าวปักลงไปเป็นจุดๆ ให้ทั่วร่องสวน เมื่อทางมะพร้าวเน่าเปื่อยหรือมีตะไคร่จับ หอยจะเข้ามาเกาะและกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารใดๆ ใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือน จากจำนวนที่ปล่อย 2 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตหอยรวมประมาณ 100 กิโลกรัม หรือเลี้ยงหอยขมในบ่อดินรวมกับปลาอย่างปลานิล หรือตะเพียนขาว โดยนำหอยขมตัวเต็มวัยใส่ลงในบ่อดิน ทำหลักไม้ไผ่ปักเป็นจุดๆ หรือใช้ทางมะพร้าวใส่ลงไปให้หอยขมเกาะ ให้อาหารปลาตามปกติ เศษอาหารและมูลของปลาก็จะเป็นอาหารหอยขมต่อไป หลังจากนั้นทุกๆ 15 วันเริ่มเก็บหอยตัวใหญ่ออกมา

การเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยขมทำได้ง่ายมาก โดยยกทางมะพร้าวขึ้นมา หรือยกขอบกระชังขึ้นมาก็จะพบหอยขมเกาะอยู่ตามทางมะพร้าวหรือบริเวณด้านข้างกระชัง ส่วนที่เลี้ยงในท้องร่อง อาจใช้สวิงตาห่างคราดเก็บเอาก็ได้ หรือนำยางนอกของรถมอเตอร์ไซค์ลงแช่ในบ่อเลี้ยง ซึ่งหอยขมจะจับจนเต็มยางรถ ช่วยให้สะดวกในการเก็บและประหยัดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในธรรมชาติหอยเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะในการนำพยาธิมาสู่ผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากวงจรชีวิตของพยาธิในระยะตัวอ่อนจะเข้ามาฝังตัวในหอย โดยเฉพาะในหอยน้ำจืด สำหรับในหอยขมมีชนิดพยาธิที่ตรวจพบดังนี้ Echinostoma malayanum, Echinostoma revolutum, Echinostoma malayanum, Echinostoma ilocanum และ Angiostrongylus cantonensis

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน