การเดินข้ามถนนบนทางม้าลายไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัยเสมอไป จากข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตระหว่างข้ามทางม้าลายกว่า 400 ราย เป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกินสังคมไทยมานานแสนนาน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ยังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญตอกย้ำถึงความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะกำลังข้ามถนนตามปกติ

จากนั้นในเดือนเมษายน นางสาวกาญจนี ใจชื้น หรือ ครูกระต่าย ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดตาก ยังถูกรถชนเสียชีวิต ขณะช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังวิ่งข้ามถนนด้วย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขจนหมดไปเสียที

ตลอดปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด จึงจัดกิจกรรม ‘หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้’ ทุกเดือน เพื่อหวังว่าจะทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยร้ายนี้เสียที ล่าสุดจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ โดยมีตัวแทนองค์กรจากภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงครอบครัวของครูกระต่ายที่จากไป เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. อธิบายว่า สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมของการ ‘หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย’ และ ‘ลดความเร็วในเขตชุมชน’ ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรณรงค์เรื่องนี้มาตลอด ล่าสุดยังได้กลุ่มไรเดอร์นักขับขี่มาช่วยรณรงค์ด้วย

“มีหลายกรณีที่ไรเดอร์จอดมอเตอร์ไซค์ให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย แต่กลับถูกรถข้างหลังชน กลุ่มไรเดอร์จึงตั้งใจมาร่วมรณรงค์ด้วย เพื่อหวังว่าปัญหานี้จะหมดไป แม้ในระยะสั้นอาจยังตอบไม่ได้ว่าจะช่วยให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงได้มากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่า จะมีประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาวอย่างแน่นอน”








Advertisement

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าหมายของกิจกรรมนี้ไว้ว่า อยู่ที่การปรับบรรทัดฐาน และสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้สังคมไทยตระหนักว่า การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยจะลดความเสียหายต่อสังคมได้มหาศาล ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรองบประมาณหรือเวลา

“อุบัติเหตุทางถนนเป็นมหันตภัยใหญ่ คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ความเสียหายเทียบไม่ได้กับครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ถ้าสังคมตื่นรู้ เห็นความสำคัญของปัญหาร่วมกัน จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับคนใกล้ตัวได้”

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เห็นด้วยว่า จำเป็นต้องปรับบรรทัดฐานของสังคม สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งรณรงค์ให้ลดความเร็วในการขับขี่ เพราะลำพังการติดป้ายเตือนไม่สามารถรับประกันได้ว่าความเร็วจะลดลง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

“เราต้องเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทำให้มองเห็นทางม้าลายชัดเจนขึ้น ไม่ใช่มีแค่ป้ายเตือน เพื่อผู้ขับขี่จะได้รู้ว่าต้องชะลอความเร็ว รวมถึงผลักดันกฎหมายลดความเร็วในการขับขี่ ที่ผ่านมาเราสามารถปลุกกระแสสังคมให้ผู้คนหันมาสนใจได้แล้ว และหากกดความเร็วรถบนถนนลงมาทีละ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้เยอะ”

กิจกรรม ‘หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้’ ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 สสส. และภาคีเครือข่ายให้คำมั่นว่า จะเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการเลือกตั้งคนใหม่นั่นคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาร่วมกิจกรรมด้วย

เพื่อให้สัญญากับสังคมว่า จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อให้ทางม้าลายของไทยมีความปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน