“รายงานพิเศษ”

ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี กำหนดเป็นวันไตโลก หรือ World kidney day ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2549 รณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงสุขภาพไต

ซึ่งในปีนี้วันไตโลกตรงกับวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสตรีสากล ด้วยกิจกรรมวันไตโลกในปีนี้จึงเน้นการรณรงค์สุขภาพไตในสตรี ภายใต้คำขวัญ “สตรีไทย “ไต” Strong”

โดยกิจกรรมวันไตโลกปีนี้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 มี.ค. ณ Atrium Zone ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

นพ.ธานี เอี่ยมศรีตระกูล อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องของสตรีกับโรคไตนั้นจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย พบว่าสาเหตุหลักของไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรวมกันมากกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการรับประทานอาหารรสหวาน หรือเค็มจัด และไม่ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งยังคงไม่สามารถสรุปได้ว่าเพศใดเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่ากัน

อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณี เช่น ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เป็นต้น

โรคไตเรื้อรังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่การทำงานของไตยังดีก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ ผลของการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน อาจทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ส่วนยาลดความดันโลหิตบางชนิดยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ จึงต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ และอาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้

ดังนั้น ก่อนการตั้งครรภ์จึงควรปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม

ในขณะเดียวกันการตั้งครรภ์ก็ส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้ง การตกเลือดหลังคลอด ทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันได้

นพ.ธานีกล่าวอีกว่า ส่วนโรคพุ่มพวง หรือโรคภูมิแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่เรียกว่าเอสแอลอีนั้น การตั้งครรภ์สามารถทำให้โรคกำเริบได้ และโรคเอสแอลอียังเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และครรภ์เป็นพิษได้ นอกจากนี้ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิดที่ใช้ในการรักษายังมีผลอันตรายต่อทารกในครรภ์

ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอีจึงต้องคุมกำเนิดในช่วงที่โรคกำเริบ และปรึกษาวางแผนการตั้งครรภ์กับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์

นพ.ธานีกล่าวด้วยว่า เรื่องของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรี ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปวดท้องน้อย บางรายอาจติดเชื้อแบบซ้ำๆ ซึ่งบางรายสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ มีบางครั้งเชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปบริเวณกรวยไต ทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ บางรายอาจติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงได้

นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์สามารถติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ รายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ดังนั้น ในสตรีตั้งครรภ์ควรได้รับการรักษาแม้ว่าจะไม่มีอาการ

การป้องกันโดยทั่วไปคือ การรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้ารัดจนเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

สำหรับการจัดกิจกรรมวันไตโลกในวันเสาร์ที่ 3 มี.ค. ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ การตรวจสุขภาพโรคไตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมอธิบายให้ความรู้เรื่องโรคไต เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต

เรื่องของสตรีกับโรคไต สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2718-1898 หรือเข้าเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.nephrothai.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน