ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์? องค์การอวกาศยุโรปเผยคลิปวินาทีจับภาพได้

ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์? – วันที่ 17 พ.ย. ไซแอนส์อะเลิทรายงานว่า องค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอเผยคลิปวิดีโอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์พบลักษณะการเคลื่อนที่คล้ายงูเลื้อยอยู่บนดวงอาทิตย์ แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานน่าจะเป็นปรากฏการณ์การระเบิดบางอย่างมากกว่าสัตว์ประหลาด

คลิปดังกล่าวเป็นผลงานล่าสุดจากยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ (Solar Orbiter) หลังถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ 10 ก.พ. 2563 โดยคลิปนี้ยานถ่ายภาพไว้เมื่อ 5 ก.ย. ระหว่างโคจรเข้าใกล้จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด หรือจุด “เพอริฮีเลียน” เมื่อ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา (จุดไกลสุดเรียกอาฟีเลียน)

ระหว่างที่ยานสำรวจกำลังโคจรเข้าใกล้จุดเพอริฮีเลียนก็พบเส้นประหลาดบนดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวคล้ายกับการเลื้อยของงู เคลื่อนพาดผ่านดวงอาทิตย์ไปอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการไหลของพลาสม่าที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าพลาสม่ารอบข้างบนชั้นบรรยากาศ ซึ่งถูกยึดเหนี่ยวไว้โดยสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์

นายเดวิด หลง นักดาราศาสตร์จากคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า พลาสม่าไหลจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งของดวงอาทิตย์ แต่ด้วยความที่สนามแม่เหล็กมีความบิดเบี้ยวสูง จึงทำให้พลาสม่าเปลี่ยนทิศทางไปมาเหมือนกับงูเลื้อยอย่างที่พบ

ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์?

ยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ (คิงส์ คอลเลจ)

รายงานระบุว่า สนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์นั้นมีความซับซ้อนสูงมากและนักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจ ทว่า ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์นั้นประกอบด้วยพลาสม่าที่เต็มไปด้วยอนุภาคที่มีประจุและถูกยึดโยงไว้ด้วยสนามแม่เหล็กข้างต้น

หลักการดังกล่าวถูกนักวิทยาศาสตร์นำมาประยุกต์ใช้เพื่อยึดโยงการไหลเวียนของพลาสม่าในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบปฏิกิริยา “ฟิวชั่น” เป็นการรวมอะตอมเพื่อสร้างพลังงาน แตกต่างจากฟิสชั่นที่แตกอะตอมออกเพื่อคายพลังงานออกมา

ในทางกลับกันการไหลของพลาสม่าจึงสามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดคะเนสภาพการเคลื่อนที่ของสนามแม่เหล็กได้

ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์?

ภารกิจ โซลาร์ ออบิเตอร์ ถ่ายภาพที่ระยะโคจรใกล้สุด หรือจุดเพอริฮีเลียน (ESA)

ทว่า สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่ใช่การเคลื่อนที่ของเจ้างูยักษ์พลาสม่าตัวนี้อย่างเดียว แต่เป็นไม่กี่วินาทีหลังปรากฏการณ์ดังกล่าว จุดเริ่มต้นของพลาสม่าก็เกิดการระเบิดปลดปล่อยก้อนมวลสารต่างๆ ออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection – CME)

CME มักมีความเชื่อมโยงกับจุดมืดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) เป็นบริเวณที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงมากทำให้อุณหภูมิจุดมืดต่ำกว่ารอบข้าง สนามแม่เหล็กที่เคลื่อนที่พัวพัน ทับถม และหักล้างกันนี้เองที่นำไปสู่ CME และบางครั้งพายุสุริยะ (Solar flare)

ภารกิจดังกล่าว ยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่ยังมียานสำรวจ พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker’s Solar Probe) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าอยู่ใกล้ๆ ซึ่งอยู่ในทิศทางของ CME ล่าสุดที่ถูกปล่อยออกมา

ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์?

ยานสำรวจ ปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ของนาซ่า ต้านทานสภาพสุดขั้วจากดวงอาทิตย์ (NASA)

โดยยานสำรวจ พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากนาซ่าออกแบบมาให้ยานมีความทนทานต่อปรากฏการณ์สุดขั้วและตรวงวัดดวงอาทิตย์ได้อย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นข้อมูลชุดถัดไปที่นักวิทยาศาสตร์รอคอย

ส่วนยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ มีกำหนดจะเข้าจุดเพอริฮีเลียนอีกครั้งในเดือนเม.ย. 2566 ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของจุดมืดต่างๆ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากดวงอาทิตย์กำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดของวัฏจักรสุริยะซึ่ง 11 ปี จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างมุ่งให้ความสนใจว่าภาพที่ถ่ายมาได้นั้นดวงอาทิตย์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน