มีคำเปรียบถึงความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ บนโลกนี้ ไม่มีโรคใดที่สร้างความทุกข์ทรมานให้ทั้งผู้ป่วยและคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยยิ่งไปกว่าโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

อย่างที่รู้กัน อาการหลักของโรคนี้คือความบกพร่องในกระบวนการทางความคิด หลงวันเวลา สถานที่ จำคนในครอบครัวไม่ได้แม้แต่ตัวเอง บางคนโชคร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็จะลืมกระทั่งวิธีกินอาหาร หรือนึกคำพูดสื่อสารไม่ออก

เพราะสมองเสื่อมมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น เมื่อประเทศไทยกลายมาเป็นสังคมสูงวัย โจทย์ใหญ่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโครงสร้างสังคมผู้อายุระยะยาว ควบคู่ไปกับการทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยหนึ่งในองค์กรที่มีเป้าหมายผลักดันนโยบายเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทั่วประเทศ อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้สานพลังภาคี สนับสนุนการพัฒนา ‘หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม Reducing Disability in Alzheimer (RDAD)’ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุขให้ทั้งผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมรวมถึงผู้ดูแลไปพร้อมๆ กัน

หลักสูตรดังกล่าวเป็นนวัตกรรมความรู้ที่สร้างสรรค์จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานระบบสุขภาพ ได้แก่ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy ภายใต้ สสส. ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อออกแบบหลักสูตร พัฒนาขีดความสามารถ ยกระดับ ให้ทุกคนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ มูลนิธิสังคมและสุขภาพ กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เบื้องหลังและที่มาของหลักสูตร ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ อธิบายว่า เริ่มต้นมาจากการดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่องการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ ระหว่างมูลนิธิสังคมและสุขภาพ กับโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ก่อนพัฒนาจนออกมาเป็นหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม RDAD ออกแบบมาเพื่อรับมือกับพฤติกรรมทางกายที่ผิดปกติ และลดภาวะความพิการที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ครอบคลุมไปถึงโรคสมองเสื่อมต่างๆ

ตัวเลขผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนผู้สูงอายุ ในกลุ่มผู้สูงอายุเองก็พบมากถึง 10% ของผู้สูงอายุในประเทศไทย เรียกว่าจำนวนและปริมาณการเจ็บป่วยไล่เลี่ยหรืออาจจะสูงกว่าภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แต่ส่งผลกระทบกว้างขวางกว่ามากทั้งผู้ดูแลและครอบครัว เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับสมองเสื่อมก็คือมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เช่น มีสภาวะซึมเศร้า ก้าวร้าว มีคำพูดรุนแรง ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ดูแลผู้ป่วยในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถทำให้สมองฟื้นความทรงจำกลับมาได้ แต่ปัญหาที่สามารถแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นได้คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก้าวร้าว การทำให้ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะได้”

โปรแกรม RDAD ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการผสมผสานในหลายส่วน เช่น การสร้างช่องทางการสื่อสารกับผู้ป่วยสมองเสื่อม ต้องมีวิธีการพูดคุยที่ไม่เหมือนกับคนปกติ ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะต้องค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงออกมาให้เจอ แม้แต่การออกกำลังกายซึ่งมีเทคนิควิธีการออกกำลังกายแบบง่ายๆ ที่ช่วยให้สภาวะความเสื่อมของสมองที่ทำให้พฤติกรรมแปรเปลี่ยนไปนั้นดีขึ้น

หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม จะมีการนำไปสอนและถ่ายทอดให้ทั้งประชาชนทั่วไปและนักศึกษาแพทย์ โดย ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เสริมถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรซึ่งจะบรรจุในเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หรือหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้นิสิตนักศึกษา เพื่อร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะด้านสุขภาพชุมชน

“โดยทั่วไปการสอนนักเรียนแพทย์จะมี 2 แบบ แบบแรกเป็นความรู้เดิมๆ ที่เรียนกันอยู่ในตำราส่วนหนึ่ง กับอีกแบบเป็นความรู้ใหม่ที่ต้องได้จาการวิจัยพัฒนา ยกตัวอย่างตำราเรียนสำหรับสังคมสูงอายุที่เขียนจากบริบทของต่างประเทศซึ่งมีความแตกต่างไปจากไทย เราก็มีการทำวิจัย พานักเรียนแพทย์ไปดูเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามแต่ละจังหวัด ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ นอกเหนือไปจากตำราเรียนเดิมๆ”

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. ย้ำทิ้งท้ายว่า การสานพลังความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ การทำให้ผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม รวมทั้งผู้ดูแลมีความสุข ไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ แต่เป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวและคนในชุมชนที่จะต้องร่วมมือกัน

“หลักสูตรดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมนับเป็นนวัตกรรมความรู้สร้างเสริมสุขภาพที่สอดรับกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เหมาะทั้งกับญาติ ผู้ดูแล รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรด้านสุขภาพอย่างเดียว และนอกจากเป็นหลักสูตรแล้ว ในอนาคตทางสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในเขตกรุงเทพมหานครต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน