สดจากเยาวชน: “จังโกย” – มีป่าย่อมมีอาหาร ไม่ว่าจะเป็นป่าชนิดไหนก็ตาม ป่าบก ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ ป่าฝน ป่าชายหาด ป่าชายเลน มนุษย์เราพึ่งพาอาหารจากป่าไปได้นานตราบเท่าที่เรายังดูแลรักษาป่าให้คงอยู่ ไม่นับป่าที่ปลูกขึ้นมาใหม่ นานวันก็หนาแน่นร่มครึ้มเป็นที่พึ่งพาหากินได้เช่นเดียวกัน

ป่าชายเลนเป็นแหล่งรวมสรรพชีวิตและนานาสารพัดอาหารจากธรรมชาติ น้ำขึ้นน้ำลง เด็กๆ ชาวเกาะลิบง ไม่เบื่อที่จะออกมาหาหอยชักตีนหน้าบ้าน ลุยป่าชายเลนหาปูหากุ้ง

ด.ช.ฮัสซิน สารสิทธิ์

เด็กๆหลายคนอยากสนุกมากกว่าขยัน แต่ก็ได้อาหารทะเลติดมือกลับบ้านทุกครั้ง เวลาน้ำลงจึงเป็นเวลาที่ขุมทรัพย์ทางทะเลเปิด แค่เดินออกจากบ้านมาโดนแดดโดนลมไม่กี่ชั่วโมง ลงแรงลุยชายเลน เลอะเทอะนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีใครกลับบ้านไปมือเปล่าแน่นอน

แต่ใช่ว่าใครไคร่ได้อะไรจะได้ตามนั้นเสียทีเดียว ลูกทะเลต้องรู้จักช่วงเวลาการขึ้นลงของน้ำในแต่ละวัน ขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ จะมีสัตว์น้ำชนิดไหนมาให้จับ

ฝึกหัดเรียนรู้แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำแต่ละชนิด เช่น จะไปตกปูดำ ทำเลไหนปูดำถึงชุกชุม อยากกินกุ้งไปตกกุ้งในป่าชายเลนก็คงไม่มี ต้องออกไปในแนวหญ้าทะเลและตกตอนกลางคืน หอยมีหลายชนิด ถ้าเรียนรู้ธรรมชาติของพวกมัน ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลงก็หาได้ เกร็ดความรู้สิ่งละอันพันละน้อย ทำบ่อยๆ กลายเป็นทักษะชีวิตที่ติดตัวไปไม่มีลืม

จังโกยปู

เด็กชายฮัสซิน สารสิทธิ์ ชั้นป.4 และเด็กชายชาวเกาะลิบงคนอื่นๆ ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลง ท้องทะเล ป่าชายเลน เรียนรู้วิถีประมงชายฝั่งจากพ่อแม่ลุงป้าน้าอาและผู้ใหญ่ในชุมชน ฮัสซินบอกว่าหากวันไหนจะไปตกปูดำก็ต้องเตรียมกับดักและเหยื่อที่มีประสิทธิภาพให้พร้อม








Advertisement

กับดักปูดำของเด็กๆ และชาวบ้านที่เกาะลิบงเรียกว่า “จังโกย” ฮัสซินบอกว่า “ใส่เหยื่อสดๆ พวกปลาตัวเล็กๆ มัดติดไม้กับจังโกย กลิ่นคาวปลาจะล่อปูดำออกมาหากิน พอมันกินเสร็จออกไปไม่ได้ก็จะติดอยู่ในกับดักของเราครับ”

จะดุ่มๆ ออกไปตกปูดำทุกวันก็ไม่ได้ เด็กน้อยเรียนรู้ว่าเราตกปูดำได้เพียงไม่กี่วัน วันที่เหลือก็ไปหาอย่างอื่นแทน “ตกปูได้ในช่วง 13 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ และ 1 ค่ำ ไปถึง 3 ค่ำ ประมาณ 6 วันครับ ลุงจิสอนไว้”

การเรียนรู้ธรรมชาติเป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ที่ตกปูได้ดีในช่วงเวลานั้นก็เป็นเพราะว่าเป็นช่วงที่น้ำขึ้นมากลงมาก และน้ำจะเชี่ยว สามารถพัดพาคาวเหยื่อไปไกล เราต้องวางจังโกยที่ร่องน้ำไหล ปูจะเดินตามร่องน้ำมาหาจังโกย พอพบเหยื่อก็เข้าไปกิน

เหยื่อปลาสดตัวโต๊โต

ปูดำไม่ได้อยู่ในทะเลเหมือนปูม้า แต่อยู่ตามป่าชายเลน ขุดรูอยู่ใกล้รากแสมและโกงกาง ต้องลุยไปในโคลนเลน บางครั้งจมลงไปถึงหัวเข่า กว่าจะดึงขาขึ้นมาจากเลนได้ทำเอาเหนื่อยหอบ แต่ดูเหมือนการปักจังโกยตกปูก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน จนตะวันลับขอบฟ้าจึงได้เวลาเข้าบ้าน

อยู่เกาะลิบง หน้าบ้านก็ทะเล เหลียวซ้ายแลขวาก็ป่าชายเลน มีธรรมชาติรอบตัวให้เรียนรู้พึ่งพา แม้ไม่ได้ออกทะเลไปจับสัตว์น้ำไกลๆ เหมือนพวกผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็ฝึกวิทยายุทธ์หาอยู่หากินใกล้บ้านได้ไม่รู้เบื่อ

มาสนุกกับการวางกับดักปูดำ ตกปูอย่างไรให้มีกินต่อไปในวันหน้า ดูแลรักษา ขยายพันธุ์อย่างไร ฮัสซินและเพื่อนจะบอกเล่าให้ฟังในทุ่งแสงตะวัน ตอน กับดักปูดำ เสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 เวลาเช้าๆ 05.05 น. ที่ช่อง 3 กด 33 และทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวันและยูทูบอีกครั้งในเวลา 07.30 น.

ปูดำหรือปูทะเล

ปักจังโกยในป่า

ชุมชนบนเกาะ

ลุยเลน

ปูติดกับดัก

 

————————————————————————————————————-
วสวัณณ์ รองเดช รายงาน
————————————————————————————————————-

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน