มะเร็งปากมดลูก เลิกกลัว เลิกอาย รีบตรวจคัดกรอง เจอช้าเสี่ยงมาก

เชื่อว่าการมีสุขภาพที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้มีอิสระในการใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการมากขึ้น ตามแนวคิดโครงการ Freedom to be บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด จึงจัด 3 กิจกรรม ในช่วงเดือนมี.ค. เพื่อร่วมรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยใส่ใจดูแลสุขภาพ

1) เปิดเผยผลการสำรวจ Women’s Health in APAC Survey ที่ทำการศึกษาผู้หญิง 3,320 คน จาก 8 ประเทศ ในเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้ง ประเทศไทย (หญิงไทย 320 คน) ในช่วงปลายปี 2565

2) จัดกิจกรรม Journalist Master Class เชิญสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวทั่วเอเชีย แปซิฟิก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในระบบเฮลต์แคร์ในเอเชียแปซิฟิก พร้อมระดมความคิดรวมทั้งเสนอแนะแนวทางทางการประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงในประเทศของตนมีความรู้ ความเข้าใจ มีโอกาสในการเข้าถึงการตรวจสุขภาพสตรีมากขึ้น

และ 3) สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในประเด็น “Women’s Health in Thailand – What Can Be Done to Provide Better Care for Women to Achieve Elimination of Cervical Cancer: เหลียวหลังแลหน้าเพื่อหาวิธีพิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย” หวังสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้หญิงเห็นถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อกำจัดให้มะเร็งปากมดลูกหมดไปจากประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมข้อ 3 นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกพบบ่อยเป็นอันดับที่ 5 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปอด โดยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่พบ 9,158 ต่อปี และมีการเสียชีวิตประมาณ 4,705 ราย

เนื่องจากมักตรวจพบมะเร็งปากมดลูกจะพบในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ค่อนข้างมาก ทำให้เห็นว่าผู้หญิงไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรวจภายใน และมักเข้ารับการตรวจก็ต่อเมื่อพบสัญญาณอันตราย อาจจะสายเกินกว่าที่จะรักษาไห้หายขาด








Advertisement

ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจ Women’s Health in APAC Survey ในผู้หญิงไทย 320 คน ผ่านการสำรวจแบบดิจิทัลในช่วงปลายปี 2565 ที่พบว่าแม้ว่าผู้หญิงไทย 61% มองว่าพวกเธอค่อนข้างมีความรู้ ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ยังมีอีก 39% ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก

ขณะที่ 66% ของผู้หญิงไทย มั่นใจในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเหมาะสมและสะดวกมากขึ้น รวมทั้ง 83% ของผู้หญิงไทยมองว่าพวกเธอมั่นใจว่าจะได้รับการรักษา หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก

“มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวกับพันธุกรรม แต่เกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มี 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจึงควรเข้ารับตรวจคัดกรองเมื่อมีอายุ 25 ปี หรือภายหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ 5 ปี ให้ตรวจครั้งแรก เพราะการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ เมื่อได้รับเชื้อไวรัส HPV อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี

หากตรวจพบในระยะที่ 1 มีโอกาสรอด 90 เปอร์เซ็นต์ แต่หากตรวจเจอระยะที่ 3 จะมีโอกาสรอด 50-50 ดังนั้นหากตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงเร็วตั้งแต่เริ่มติดเชื้อก็สามารถทำการรักษา ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้” ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ใช้การตรวจแบบ HPV DNA Test ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจถึงระดับ DNA เพื่อหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อระบุหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งหรือภาวะก่อนมะเร็งในสตรี โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่าง และใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในห้องปฎิบัติการ เพื่อระบุหาเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงจาก DNA ของเชื้อโดยตรง มีความไวในการตรวจเจอโรค 92% และสามารถเว้นระยะการตรวจได้ถึง 5 ปี หากตรวจไม่พบเชื้อ

“สำหรับผู้หญิงบางคนที่มีความกังวล กลัวเจ็บ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนนั้น แพทย์จะเลือกขนาดเครื่องมือตรวจภายในที่เหมาะสม ส่วนคนที่อายแพทย์ ปัจจุบันมีการตรวจด้วยวิธี HPV DNA Self-sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง

ไม่เจ็บ มีความไวในการตรวจเจอโรคมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ต่างจากการตรวจโดยแพทย์ สามารถขอตรวจด้วยวิธีนี้ได้ในโรงพยาบาล เมื่อเก็บตัวอย่างเสร็จแล้วก็นำมาให้เจ้าหน้าที่ส่งแล็บเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป

ส่วนกลุ่มที่ไม่ยอมตรวจเพราะกลัวจะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก กลัวการรักษานั้น อยากให้มองว่าการตรวจภายในเป็นเรื่องปกติเหมือนตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรมาตรวจ เพราะมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ในหลายระยะ ตั้งแต่การพบเชื้อ HPV ตรวจพบเซลล์ผิดปกติ

มะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็งจะไม่มีอาการ แต่เมื่อเกิดแผลที่ปากมดลูก หรือเกิดเป็นก้อนขึ้นมา จะมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์เ ซึ่งเมื่อตรวจภายในจะเห็นเป็นก้อนว่าเป็นมะเร็งชัดเจน จึงไม่อยากให้เจอในระยะนี้

อย่ารอจนเกิดอาการก่อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพราะหากเจอเชื้อเร็วจะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้” ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน