สดจากเยาวชน: เด็กบางกะเจ้า – สิ่งที่มาพร้อมอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงนี้คือฝุ่นละอองอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พาไทยติดอันดับอากาศแย่ แสบตา แสบจมูก เจ็บคอ ไอและมีเสมหะ ในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

ฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมหาศาล ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งถ้าช่วงไหนฝุ่นมีปริมาณสูงในอากาศจะดูคล้ายหมอกหรือควัน บดบังทัศนียภาพตึกทั้งตึกหรือภูเขาทั้งลูกได้อย่างง่ายดาย

สดจากเยาวชน: เด็กบางกะเจ้า

เด็กชายก็อต ถามไถ่ปัญหาน้ำเค็ม

“บางวันมองข้ามฝั่งแม่น้ำไปแทบไม่เห็นตึกเลยครับ ฟ้าครึ้มๆ มัวๆ รู้สึกเหมือนฝนจะตก” เสียงเล่าเคล้าเสียงเรือเทียบท่าพาผู้คนสัญจรข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็อต ปาณวัฒน์ นุ่มเจริญ เด็กชายวัย 12 ปี เติบโตมาในย่านบางกะเจ้า

“บางกะเจ้า” ถูกเรียกว่า “ปอดของคนเมือง” แหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญใกล้กรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นแหล่งอาหารเรือกสวนผลไม้ สร้างรายได้หมุนเวียน ดูดซึมกลั่นกรองมลพิษ สิ่งสกปรกในอากาศให้กลับมาสะอาดสู่ปอดของทุกชีวิต

ในช่วงฤดูฝุ่น ต้นไม้สามารถดักจับฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจายในอากาศ ใบไม้คือพื้นที่ยึดเกาะฝุ่นละอองชั้นดีให้อยู่กับที่ และเมื่อฝนตกลงมาจะช่วยชะล้างเหล่าอนุภาคเล็กๆ ลงไปสู่พื้นดินแทนที่จะปล่อยให้ล่องลอยในอากาศ “เราตื่นเช้ามาได้รับอากาศสดชื่นทุกวันเพราะว่ามีต้นไม้เต็มไปหมด บางวันอากาศร้อนแต่ไม่ร้อนมากนักถ้าอยู่ใต้ต้นไม้”

สดจากเยาวชน: เด็กบางกะเจ้า

บางกะเจ้า ปอดเมือง

ความคิดเล็กๆ ของเด็กๆ บอกอะไรได้หลายอย่าง สิ่งหนึ่งคือทำให้รู้ว่าเด็กๆ รักต้นไม้ เพราะประโยชน์ที่มีมากมายมีคุณค่าต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ แต่แหล่งอาหาร พื้นที่สีเขียว และปอดของเมือง กำลังเผชิญปัญหาใหญ่คือน้ำเค็มรุกหนัก

“บ้านเรามีอัตลักษณ์เป็นสวนผลไม้นานาพันธุ์ มีเอกลักษณ์เป็นสวนยกร่อง เราก็จะต้องการน้ำที่ดีในการดูแลสวนครับ ตอนนี้น้ำเค็มเยอะขึ้น ส่งผลเสียก็คือเราไม่ค่อยมีน้ำไปรดน้ำต้นไม้ในสวน พวกผลไม้ก็จะไม่ค่อยชอบน้ำเค็มกันเท่าไหร่ ขังนานๆ มันจะเฉาตาย ต้นไม้ก็เหมือนคนครับ ถ้ากินเค็มเกินไปก็ไม่ได้ ต้องกินเค็มพอดีๆ”

ลุงประกิจ รอดเจริญ กับเด็กชายก็อต

ในวันหยุด วันว่าง เด็กชายก็อตมักตามติด ลุงประกิจ รอดเจริญ ไปทำภารกิจสำคัญ คือการสุ่มเก็บตัวอย่าง บันทึกค่าความเค็มของน้ำ ลัดเลาะไปตามลำคลอง ลำกระโดง ริมแม่น้ำ รวมถึงในร่องสวน เฝ้าระวังพื้นที่สีเขียวที่กำลังถูกน้ำเค็มรุกรานในช่วงแล้ง

“เวลาน้ำเค็มเยอะ เราต้องบอกชาวสวนครับ เพื่อรีบปิดประตูระบายน้ำ ป้องกันน้ำเค็มเข้ามาในร่องสวน บางทีก็ต้องไปสำรวจตามผนังกั้นน้ำ ประตูน้ำ บางจุดรั่ว บางจุดชำรุด ก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่มาซ่อมครับ”

เมื่อความเค็มกำลังทำลายปอดเมือง เด็กๆ และชุมชนบางกะเจ้ามีวิธีการปรับตัวและรับมืออย่างไร ติดตามชมในทุ่งแสงตะวัน ตอน ปอดรสเค็ม เช้าวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม เวลา 05.05 น. ช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทาง Facebook ทุ่งแสงตะวัน

สดจากเยาวชน: เด็กบางกะเจ้า

สวนยกร่อง

ความเค็มสูงระดับ 6.75

 

————————————————————————————————————-
กนกวรรณ อำไพ รายงาน
————————————————————————————————————-

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน