“เสถียร จันทิมาธร”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า ซุนกวนถามว่า “โจโฉนี้มีความเดียดฉันท์คิดร้ายลิโป้ เล่าเปียว อ้วนเสี้ยว อ้วนสุดแลเล่าปี่กับเรา แลนายท่านก็พึ่งตั้งตัวใหม่ ทหารก็น้อยจึงเสียทีแก่โจโฉ ฝ่ายเราคิดจะรักษาเมืองกังตั๋งไว้มิให้ตกไปอยู่ ในบังคับโจโฉ

“แต่บัดนี้มิรู้ที่จะป้องกันประการใดเลยจนใจอยู่”

ขงเบ้งจึงว่า “ท่านจะคิดป้องกันโจโฉแต่ลำพังนั้นก็ได้ดอก แต่มิสู้ดี ข้าพเจ้านี้คิดว่า เล่าปี่นายข้าพเจ้าแตกโจโฉมาก็จริงแต่ยังมีทหารให้กวนอูคุมอยู่นั้นหมื่นหนึ่ง ฝ่ายเล่ากี๋ผู้หลาน ก็มีทหารที่มีฝีมือเข้มแข็งหมื่นหนึ่ง

“ขอให้ท่านกับเล่าปี่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมทหารทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน คิดอ่านทำการกำจัดโจโฉเห็นจะได้ ด้วยทหารโจโฉเป็นชาวดอน ถึงชาวเมืองเกงจิ๋วซึ่งชำนาญเรือนั้นเล่าก็เป็นคนจำใจจะทำการก็มิเต็มมือ เห็นจะสู้กันได้ก็ครั้งนี้

“ให้ท่านเร่งตรึกตรองดูเถิด ถ้าเราชนะก็จะได้เมืองเกงจิ๋วไว้เป็นกำลัง”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่าเมื่อเสพสุรากันคนละ 2-3 จอกแล้วซุนกวนพูดขึ้นว่า “อันโจโฉผู้นี้มีใจเหี้ยมโหดนัก ข้าพเจ้าจะยอมให้อาณาจักรง่อตะวันออกตกไปอยู่ในมือผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ข้าพเจ้าคิดจะสู้กับโจโฉ

“นอกจากเล่าปี่แล้วก็ไม่มีใครกล้าสู้กับโจโฉได้ แต่เล่าปี่ก็เพิ่งแพ้โจโฉมาใหม่ๆ จะสามารถ ยืนหยัดต่อสู้ไปได้อย่างไร”

การตอบคำถามของขงเบ้งครั้งนี้สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ไม่ควรให้ผ่านเลย

ถึงแม้ว่าเล่าปี่จะเพิ่งเสียทัพมาก็ตามทีแต่กวนอูยังคุมทหารฝีมือดีอยู่นับหมื่น ฝ่ายเล่ากี๋ เล่าก็มีทหารเมืองกังแฮอยู่ไม่น้อยกว่าหมื่น

ส่วนทหารโจโฉนั้นยกมาไกลย่อมจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสารพัด

เมื่อเร็วๆ นี้ยังต้องไล่ติดตามเล่าปี่ถึง 300 ลี้ ต้องเดินทางทั้งกลางวัน กลางคืน เหมือนหนึ่ง ที่มีคำกล่าวว่า

“อันลูกธนูแล่นมาแต่ไกลด้วยกำลังแรง กว่าจะถึงเมืองหลู่ แม้จะถูกผ้าไหมบางๆ ก็ไม่ทะลุ”

นอกจากนั้น ทหารโจโฉส่วนใหญ่มาจากเมืองเหนือ ไม่ชำนาญการรบทางเรือ ส่วนทหาร ที่โจโฉได้มาจากแคว้นเกงจิ๋วนั้นเล่า ก็ต้องถูกต้อนมาด้วยความจำใจ

มิใช่ด้วยความสมัครใจ

หากท่านร่วมแรงร่วมใจกับเล่าปี่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้วย่อมตีทัพโจโฉให้แตกได้เป็นมั่นคง ถ้าโจโฉแตกทัพ กลับขึ้นไปเมืองเหนือ เกงจิ๋วกับอาณาจักรง่อ ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น แผ่นดินนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีกำลังอำนาจคู่ควรกันไป

โอกาสที่จะเอาชนะโจโฉอยู่ ณ บัดนี้ ขอท่านขุนพลตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเถิด

สํานวนอันคมคายที่ว่า “อันลูกธนูแล่นมาแต่แดนไกลด้วยกำลังแรง กว่าจะถึงเมืองหลู่ แม้จะถูกผ้าไหมบางๆ ก็ไม่ทะลุ”

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ปรากฏ

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช นั้นมีแต่ก็ดำเนินไปตามแบบของแพทย์หญิง นั่นก็คือ กระชับ สั้น เข้าเป้า

“ทหารเฉาเชามาไกลเหนื่อยล้า ไล่ตามหลิวอวี้โจว วันหนึ่งเดินทางทั้งวันทั้งคืนวันละ 300 ลี้ ก็เหมือนลูกเกาทัณฑ์สุดแรงแล้ว แม้แพรบางๆ ก็ยิงไม่ทะลุ อีกทั้งคนทางเหนือ ไม่ชำนาญการรบทางน้ำ ทหาร ประชาชนจิงโจวถูกบังคับใจยังมิยอม

“ถ้าหากท่านร่วมกับหลิวอวี้โจวก็สามารถตีเฉาเชาแตกได้ เฉาเชาหนีไป จิงโจว กับหวู ก็จะเป็นเหมือนขาของติ่ง จะแพ้ชนะก็อยู่ที่วันนี้แหละ ขอให้ท่านตัดสินใจ”

“ขาของติ่ง” นี้เองที่สำนวน วรรณไว พัธโนทัย แปลออกมาว่า “ถ้าโจโฉแตกทัพกลับขึ้นไปเมืองเหนือ เกงจิ๋วกับอาณาจักรง่อก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น แผ่นดินนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีกำลังอำนาจคู่ควรกัน” ขณะที่ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ทำคำอธิบายตรง “ติ่ง” ว่า ติ่งเป็นภาชนะ 3 ขา โดยมีขาทั้ง 3 คือ เฉาเชา จิงโจว หวู

นี่เท่ากับเผยถึงเป้าหมายแห่ง “แถลงการณ์ หลงจง” เพียงแต่ยังมากด้วย “เงื่อนงำ”

หลี่ฉวนจวิน กล่าวในหนังสือ “101 คำถามสามก๊ก” ระบุว่า ขงเบ้งเสนอ “ยุทธศาสตร์ หลงจง” เมื่อรัชศกเจี้ยนอานปีที่ 12 (ค.ศ.207) ก่อนสงครามเช็กเพ็ก 1 ปี

ตอนนั้นแนวโน้มในอนาคตของโจโฉ เล่าปี่และซุนกวน นอกจากของโจโฉแล้วของคนอื่นยังไม่ชัดเจน

ขงเบ้งเป็นคนเห็นเค้าเงื่อนแล้วรู้อนาคต คาดการณ์พยากรณ์การเมือง 3 เส้า ได้อย่างแม่นยำ

แม่นยำกระทั่งการสามัคคีกับง่อตะวันออก แม่นยำกระทั่งเป็นแรงจูงใจในการดำเนินกลยุทธ์ “ยืม” เมืองเกงจิ๋วเพื่อเป็นกระดานหกไปยังเอ็กจิ๋วในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน