รู้หรือไม่ ในขณะนี้ ‘คนวัยแรงงาน’ เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และกำลังถูกโรค NCDs คุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการบริโภคในปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้องค์กรเครือข่ายสุขภาวะ ได้นำชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. ไปปรับใช้กับบุคลากรในองค์กรให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัด การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ ‘องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ’ (Future of Work on Wellbeing) ขึ้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของ สสส. ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ‘องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ’ ว่า NCDs ถือเป็นกลุ่มโรคที่ถูกพูดถึงบ่อยในหลายทศวรรษหลังมานี้ เพราะกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยและโลก ซึ่งคิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี เทียบเท่า 9.7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

สสส. ในฐานะผู้สนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทย จึงเร่งป้องกันการเกิดโรค NCDs ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

แต่การแก้ไขปัญหาสุขภาวะดังกล่าว ปัจจุบันไม่สามารถพึ่งพาแค่การให้บริการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวเพราะหากพิจารณาจากผลสำรวจพบว่า การให้บริการทางการแพทย์แม้จะก้าวหน้าเพียงใดก็มีผลต่อสุขภาพที่ดีของประชากรแค่ 10% เท่านั้น อีก 90% ต้องมาจากกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพในหลายมิติ

หนึ่งในนั้น คือ การมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มองค์กร (Happy Workplace) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs เพราะกลุ่มวัยแรงงานใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่ทำงาน ฉะนั้นสถานประกอบการจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของคนส่วนใหญ่ในประเทศ








Advertisement

“สสส. จึงมุ่งสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรสุขภาวะกว่า 80 องค์กร นำชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุ สุขภาวะทางปัญญา สถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว เพื่อปรับใช้เป็นเครื่องมือเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กรลดเสี่ยง NCDs นำไปสู่การขยายผลเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. และรองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กล่าวถึงงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรกับการเติบโตขององค์กรว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้งานพัฒนาคนในองค์กร เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) จะดีและมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หนักไปกว่านั้น อาหารที่หลายคนบริโภคอยู่ทุกวันกับปรุงแต่งเน้นรสชาติแต่ถูกละเลยคุณภาพไป ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เองที่ส่งผลให้ตัวเลขคนป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ภาวะเงินเฟ้อ สินค้ามีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ปัญหาด้านสังคม รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดของคนทั่วโลก

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต่อจากนี้จึงต้องมุ่งประเด็นไปที่การออกแบบวิธีการทำงานแบบใหม่ให้ตอบโจทย์คนทำงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ Happy Workplace ของ สสส. จะช่วยออกแบบรูปแบบและกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่คนทำงาน ส่งผลทำให้คนในองค์กรมีความสุขในการทำงานอย่างยั่งยืน

“สิ่งที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ ปัจจัยสำคัญคือผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์ตระหนักว่า พนักงานคือทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อองค์กรมากที่สุด ดังนั้นต้องช่วยกันทะนุถนอมทำให้พวกเขามีสุขภาวะที่ดี ซึ่งการมีสุขภาวะที่ดี ไม่ใช่แค่มีรายได้เยอะ หรือมีงานมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีสุขภาพกาย ใจ และสภาพแวดล้อมสังคมที่ดีด้วย” ดร.สัมพันธ์ ฝากถึงทุกองค์กร

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) พูดถึงการเป็นองค์กรสุขภาวะยุคใหม่ ด้วยสุขภาวะดี 4 มิติในเชิงปฏิบัติว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในทำงานนานถึงวันละ 8-10 ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละ 5-7 วัน ส่งผลให้พนักงานในองค์กรเกิดปัญหาด้านสุขภาพขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs ดังนั้นเพื่อให้เกิดองค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพพนักงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกาย บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

“มีงานวิจัยบอกว่าในหนึ่งวันคนส่วนใหญ่นั่งนานถึง 13 ชั่วโมง หรือเทียบเท่ากับการนั่งรถไป จ.ยะลา ซึ่งการนั่งนานๆ โดยไม่ขยับร่างกายส่งผลเสียต่อร่างกาย ฉะนั้นระหว่างวันพยายามหาเวลาลุกจากเก้าอี้ มายืดเส้นยืดสายขยับร่างกายบ่อยๆ ส่วนองค์กรเองก็ต้องจัดกิจกรรมและจัดสิ่งแวดล้อมที่ทำงาน ทำให้พนักงานมีชีวิตชีวา ช่วยให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ

“ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นมื้อกลางวัน หรืออาหารว่างระหว่างการประชุม ซึ่ง สสส. จะแนะนำการกินแบบใช้สูตร 2 : 1 : 1 หรือการกำหนดปริมาณอาหารที่เหมาะสม โดยการแบ่งสัดส่วนของจานออกเป็น 4 ส่วน เท่าๆ กัน และแบ่งประเภทอาหารที่จะใส่ลงไปในจานเป็นผัก 2 ส่วน ข้าวหรือ แป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน”

ดร.นพ.ไพโรจน์ ยังย้ำอีกว่า นอกจากการมีกิจกรรมทางกายแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ซึ่ง สสส. จะแนะนำการกินแบบใช้สูตร 2: 1 : 1 หรือการกำหนดปริมาณอาหารที่เหมาะสม โดยการแบ่งสัดส่วนของจานออกเป็น 4 ส่วน เท่าๆ กัน และแบ่งประเภทอาหารที่จะใส่ลงไปในจานเป็นผัก 2 ส่วน ข้าวหรือ แป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ที่สำคัญลดบริโภคน้ำตาล น้ำมัน และหลีกเลี่ยงการเติมเกลือในอาหารเป็นดีที่สุด

เพราะการที่พนักงานมีสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความเจริญเติบโตหรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน